นับหนึ่ง “คลายล็อกพรรค” คืนอำนาจเลือกตั้ง

เรื่องจริงที่ต้องอิงนิยาย

กับปรากฏการณ์ทางกระแสของละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่ได้รับความนิยมทั่วบ้านทั่วเมือง คนดูติดกันงอมแงมทั่วประเทศ จนยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ

ถึงขั้นภาครัฐบาล โดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ได้สั่งการผ่านกระทรวงวัฒนธรรมแสดงความชื่นชมทีมงานผู้จัดละคร

ที่สร้างผลงานย้อนประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อย่างดี

พร้อมสนับสนุนให้ทำภาค 2 ภาค 3 เพื่อให้กระแส ความนิยมในเอกลักษณ์ความเป็นไทยเป็นไปอย่าง

ต่อเนื่อง ตามภาพข่าวที่ประชาชนพากันแต่งชุดไทยเต็ม บ้านเต็มเมือง

แม้แต่ขึ้นเครื่องบิน เดินห้างสรรพสินค้า แบบไม่เคอะเขิน

โดยเฉพาะการท่องเที่ยวตามรอยละคร ที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แบบที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อเนื่องในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รองรับกระแสความนิยมละครบุพเพสันนิวาส

ปูพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ระยะยาว

ขณะเดียวกัน ก็เป็นจังหวะสถานการณ์ “ตามน้ำ” โดยปรากฏการณ์ทางกระแสของละครบุพเพสันนิวาสที่กระตุ้นความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

มันเข้าทางพอดีกับยุทธศาสตร์ “ไทยนิยมยั่งยืน” ของรัฐบาล “นายกฯลุงตู่”

ส่งทีมงาน 7 พันกว่าทีมลงพื้นที่ทั่วประเทศ ลุยแก้ปัญหาความยากจนให้ชาวบ้าน จัดสารพัดมาตรการประชารัฐช่วยค่าครองชีพคนรายได้น้อย อัดฉีดกองทุนหมู่บ้านละ 2 แสนบาท

...

บริหารบ้านเมืองพร้อมๆกับกวาดคะแนนนิยม

ที่แน่ๆโดยบรรยากาศที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังอยู่ในอารมณ์สบายๆ อินไปกับละคร ไม่ได้ซีเรียสไปกับสถานการณ์ทางการเมือง

ตามท้องเรื่องล่าสุดที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาเสียงแข็ง แสดงท่าทีตอบกลับม็อบคนอยากเลือกตั้งที่บุกไปกดดันถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบก

ยุให้กองทัพถอนตัวจากการสนับสนุน คสช.มาอยู่ข้างประชาชน

ถือเป็นข้อเรียกร้องเลื่อนลอย เคลื่อนขบวนม็อบแกล้งให้คนใช้รถใช้ถนนเดือนร้อนหงุดหงิด

จงใจยั่วให้เกิด “น้ำผึ้งหยดเดียว”

พร้อมสั่งหน่วยความมั่นคงไล่เช็กเส้นทางการเงิน ตรวจสอบท่อน้ำเลี้ยง ตามพฤติการณ์ที่เชื่อมโยงกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ถึงจังหวะที่ ผบ.ทบ.ในฐานะเบอร์ 1 คุมกำลังความมั่นคงต้องโชว์บทเข้ม คุมเกมป่วน

สอดรับในทิศทางเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่พูดชัด จะไม่ปล่อยให้ประเทศกลับไปเหมือนเก่า

ตามสถานการณ์ล้อกับกระแสข่าวที่ว่าฝ่ายความมั่นคงเกาะติดขบวนการจ้องป่วนสถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม โอกาสครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร

สร้างเหตุการณ์วุ่นวาย จนอาจทำให้ทุกอย่างพลิกผัน

ในขณะที่กระบวนการตามโรดแม็ปยังเดินหน้า

ล่าสุดวันที่ 1 เมษายน นี้ ดีเดย์ที่ คสช.ไฟเขียวให้พรรคการเมืองเก่าได้ทำการตรวจเช็กข้อมูลเกี่ยวกับฐานสมาชิกพรรค

“คลายล็อก” ป้อมค่ายการเมืองให้เริ่มขยับเขยื้อนได้

ท่ามกลางบรรยากาศที่กลับมาคึกคักทันทีทันใด ตามภาพข่าวที่แกนนำพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ แห่เข้าร่วมวงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยมี 55 พรรคเก่า ร่วมประชุมชี้แจงแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามมาตรา 141 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองประกอบ คำสั่ง คสช. 53/2560

เคลียร์ข้อสงสัยเชิงธุรการ และข้อกฎหมาย ตามเงื่อนไขกฎหมายใหม่เข้มถึงขั้นเสี่ยงโดนยุบพรรค

โดยบรรยากาศยกระดับความคึกคักต่อเนื่องจากคิวที่ คสช.เปิดให้จดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่กับ กกต.เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา

นักการเมืองทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า เปิดตัวแสดงตน เริ่มปั่นเรตติ้งกับกองเชียร์

กระตุ้นจังหวะ ปี่กลองเชิดฉิ่งโหมโรงเลือกตั้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยอมรับกระแสปฏิรูปส่งผลระดับหนึ่ง ประเมินได้จากการที่คนรุ่นใหม่เปิดตัวออกมาลงสนามการเมือง โดยเฉพาะรายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซีอีโอหนุ่มของกลุ่มไทยซัมมิทฯ ที่แตะมือกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ตั้งพรรคอนาคตใหม่

ได้รับเสียงตอบรับอย่างหนาแน่นพอสมควร

ยิ่งเป็นอะไรที่เน้นการตลาดผ่านกระบวนการแห่กระแสในโลกโซเชียลมีเดียตามวิถีของคนยุค 4.0

ตรงกับอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลง

แต่ก็อีกนั่นแหละ ด้วยความร้อนแรงบวกกับอุดมการณ์ส่วนตัวที่นายธนาธรและนายปิยบุตรได้แสดงถึงทัศนคติทางการเมืองในนามกลุ่มนิติราษฎร์ ค่อนข้างหมิ่นเหม่ต่อปมสถาบัน

นั่นก็ทำให้โดนต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษนิยม

จับอารมณ์ตั้งแง่ใส่กัน “อนาคตใหม่” จุดไฟขัดแย้งรุนแรงตั้งแต่ไม่ทันลงสนามเลือกตั้ง

ถึงเวลาจริงไม่รู้จะฝ่าแรงเสียดทานไปได้สักกี่น้ำ

และอีกจุดที่เห็นถึงความพยายามผลักดันคนรุ่นใหม่เข้ากับกระแสปฏิรูป สังเกตจากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มปั้นหลานชายอย่างนายพริษฐ์ วัชระสินธุ ส่งขึ้นเวทีดีเบต

เปิดตัวทางการเมือง ในฐานะคนประชาธิปัตย์ยุค 4.0

“อภิสิทธิ์” ก็ลุ้นเบียดชิงกระแสคนรุ่นใหม่กับ “ธนาธร” เหมือนกัน

แต่เรื่องของเรื่อง นักการเมืองรุ่นใหม่จะแรงยังไง มันก็ยังเป็นอะไรที่แค่กระแสลอยๆ

และเท่าที่เปิดหน้าโชว์ตัวกันออกมาถือว่ายังน้อยอยู่มาก พรรคใหม่ยังไม่มีแรงเหวี่ยงพอจะทำให้โมเมนตัมทางการเมืองเปลี่ยนไปสู่ยุคการปฏิรูป

ตามรูปการณ์ความชัวร์ก็ยังอยู่ที่ป้อมค่ายการเมืองเดิมที่เคยเป็นเจ้าของสนาม

ซึ่งนั่นก็หนีไม่พ้นถูกจับตา คนการเมืองพันธุ์เก่าจะปรับตัวหรือไม่ อย่างไร

เพื่อสลัดภาพนักการเมืองที่เป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้คนในสังคม จนประชาชนต้องเปิดทางให้ทหารเข้ามายึดอำนาจบริหารคั่นจังหวะหลายปี

เมื่อ คสช. “คลายล็อก” ให้ คงจะได้เห็นกระบวนท่า

แต่เท่าที่เห็นแนวโน้มจากอาการเบื้องต้น ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ รีบประกาศให้อดีต ส.ส.แสดงตัวแสดงตน จองโควตาสมัคร ส.ส.ในนามพรรค

เช็กขุมกำลัง สกัดเลือดไหลออก

ตามสถานการณ์ที่กลุ่มวาดะห์ส่อชิ่งพรรคเพื่อไทย สลัดคราบ “ทักษิณ ชินวัตร” ออกไปสังกัดป้อมค่ายการเมืองใหม่ เพื่อปักธงคืนความยิ่งใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

สะท้อนร่องรอยร้าวๆในพรรคเพื่อไทย จังหวะตอกย้ำแรงสั่นสะเทือนจากปฏิกิริยาต่อต้าน “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง ถือธงนำทัพ

ศึกชิง “นอมินี” นายใหญ่ เคลียร์กันไม่ลง

ทำให้ “นายใหญ่” ต้องส่งสัญญาณแตกทัพ ปรับยุทธศาสตร์แยกกันเดินร่วมกันตี

ทำทุกวิถีทางเพื่อพลิกขั้ว ชิงอำนาจคืนจากทหารให้ได้

ขณะที่สถานการณ์ของฟากประชาธิปัตย์ก็อยู่ในสภาพรอพรรคแตกเหมือนกัน

ตามสถานะของ “อภิสิทธิ์” ที่เข็นไม่ขึ้น ขายไม่ออก แถมยังขวางการแจมรัฐบาลกับทีม “ลุงตู่”

โอกาสสูงที่จะได้เห็นทีม กปปส.ของ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แฝงตัวอยู่ในพรรค รอจังหวะเวลาที่ คสช.เปิดไฟเขียวให้พรรคดำเนินการกิจกรรมทางการ จัดประชุมปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารได้

เกมโหวตไล่ “อภิสิทธิ์” เกิดขึ้นแน่

ดูแล้วขาใหญ่ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ก็ยังมุ่งแต่ปั่นแต้ม ส.ส. ช่วงชิงอำนาจ แย่งผลประโยชน์

เอาแค่ปริมาณ ไม่เน้นคุณภาพสักเท่าไหร่.

“ทีมการเมือง”