กก.ปฏิรูปตำรวจชง "ยกเครื่อง" โรงพักทั่วประเทศ แบ่ง 3 ขนาด สร้างมาตรฐานบริการประชาชน ทำคู่มือปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจ กำหนดเวลาคดีต้องเสร็จ นำเทคโนโลยีใช้เพิ่มประสิทธิภาพ เสนอยกเลิก กต.ตร.แต่ดึง ปชช.-เอกชน-ท้องถิ่น ร่วมตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 61 นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ซึ่งมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการ ด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจในหัวข้อ "การเพิ่มประสิทธิภาพ สถานีตำรวจ" โดยมีเป้าหมายสำคัญ ๕ ประการ คือ (๑) ทำให้มั่นใจว่าสถานีตำรวจมีทรัพยากรเพียงพอ มีความพร้อมต่อการปฏิบัติงาน ในระดับพื้นที่ มีความทันสมัยรองรับกับโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง และสามารถรับมือกับอาชญากรรมใหม่ๆ ได้ (๒) วางมาตรฐานการปฏิบัติงานในกระบวนการต่างๆ ที่ชัดเจน เพื่อให้การปฏิบัติงานในระดับสถานีตำรวจมีความเป็นมืออาชีพ (๓) มีระบบควบคุมคุณภาพภายในโดยผ่านกลไกเจรตำรวจที่ได้รับการออกแบบใหม่ (๔) ให้สามารถทำงานเป็นเครือข่าย และเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของตำรวจ ตามแนวทางประชารัฐ โดยเฉพาะการสมทบทรัพยากร และ (๕) สามารถวัดผลงานและผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเปิดเผย โปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ในการนำเสนอนั้น นายมนุชย์ วัฒนโกเมร ประธานอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ และ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ อนุกรรมการได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการในการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีตำรวจทั่วประเทศ ๑,๔๐๐ สถานี มีทั้งหมด ๗ ประการคือ (๑) พัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับสถานีตำรวจโดยจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงาน โดยต้องสามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เช่น การแจ้งเอกสารหาย การเปรียบเทียบปรับตามใบสั่งให้เสร็จภายใน ๓๐ นาฑี การขอสำเนาบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีให้เสร็จภายใน ๒ ชั่วโมง เป็นต้น (๒) ปรับปรุงพันธสัญญาการให้บริการให้เป็นระบบ และเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกสถานี และให้มีสำนักงานเจรตำรวจเป็นหน่วยงานติดตาม และจัดทำระบบการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงาน (๓) พัฒนาระบบควบคุมภายในโดยเฉพาะการตรวจสอบการดำเนินงานของสถานีตำรวจ ซึ่งจะแบ่งเป็น ๓ ขนาดคือ ขนาดเล็ก (S) มีกำลังพล ๕๐-๗๐ นาย ขนาดกลาง (M) มีกำลังพล ๑๐๐-๑๒๐ นาย และขนาดใหญ่ (L) มีกำลังพล ๑๘๐-๒๐๐ นาย ให้เป็นไปตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดทำงบประมาณของ สถานีตำรวจ ให้กองบัญชาการที่ได้รับการกระจายอำนาจแบบบูรณาการไม่ให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตัองไปแสวงหาทรัพยาการจากบุคคลภายนอก ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ติดตามมา (๔) ควรปรับปรุงและพัฒนาระบบการตรวจสอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้สำนักงานจเรตำรวจเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติราชการของสถานีตำรวจทั้ง ๑,๔๐๐ สถานีทั่วประเทศ (๕) การพัฒนาสถานีตำรวจ ให้เป็นสถานีทันสมัย โดยนำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ เช่น ระบบสายตรวจ GPS (การตรวจสอบพิกัดด้วยดาวเทียม) และการนำโดรนมาใช้ในการแก้ปัญหาจราจร และการตามจับผู้ต้องหา (๖) จัดตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการตำรวจระดับสถานี" เพื่อสร้างความร่วมมือและเครือข่ายตำรวจในระดับพื้นที่ตามโมเดล "ประชารัฐ" เป็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการรักษาความปลอดภัยในเขตรับผิดชอบของสถานี (๗) ยกเลิก กต. ตร.ประจำสถานีตำรวจ โดยให้มี "คณะกรรมการติดตามตรวจสอบและส่งเสริมการบริหารกิจการที่ดีของตำรวจประจำจังหวัด" เพื่อให้สอบทาน และกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของสถานีตำรวจ
...
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเรื่องหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาองค์การตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างเป็นระบบ เกิดความต่อเนื่องความยั่งยืน รวมทั้งทำหน้าที่ในการปรับปรุงระบบบริหารงานและการบริการประชาชนให้มีความทันสมัยนั้น ที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว และประธานอนุกรรมการด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจรับเอาความเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุง เช่น อาจให้สำนักยุทธศาสตร์การตำรวจทำหน้าที่ดังกล่าวก็ได้ แล้วนำมาเสนอในการประชุมคราวหน้า