เรื่องราวเตือนสติข้าราชการเกี่ยวกับเรื่องเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ทุจริต ซึ่ง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำเผยแพร่เป็นกรณีตัวอย่างนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
อย่างคราวนี้เป็นเรื่องของการจัดจ้างขุดลอกลำน้ำ มีกรณีที่เกิดขึ้นว่าหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งได้รับงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินโครงการขุดลอกลำน้ำ จึงได้จ้างผู้รับจ้างเพื่อขุดลอกลำน้ำขนาดกว้าง 25 เมตร ลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร ยาว 5,000 เมตร หรือปริมาณดินขุดลอกไม่น้อยกว่า 260,680 ลูกบาศก์เมตร เมื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับรายงานแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
พบว่า ปริมาณดินที่ขุดทั้งหมดคำนวณได้น้อยกว่าปริมาณดินตามที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานจ้างและคณะกรรมการตรวจการจ้างได้รับงานจากผู้รับจ้างว่าครบถ้วนถูกต้องตามแบบรูปรายการและรายละเอียดตามข้อกำหนดในสัญญาทุกประการ ทั้งที่ข้อเท็จจริงปริมาณดินขุดลอกไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชี้มูลว่า เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นในการปฏิบัติการตามหน้าที่อันเป็นความเท็จ หรือรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
กรณีนี้ทำให้เห็นถึงความเข้าใจในสัญญาจ้างของหน่วยงานของรัฐ ผู้ควบคุมงานจ้างและคณะกรรมการตรวจการจ้าง กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน โดยหน่วยงานของรัฐ ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการการตรวจการจ้าง ยึดแบบรูปรายการเป็นหลัก กล่าวคือ เมื่อผู้รับจ้างขุดลอกลำน้ำตามแบบรูปรายการที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแล้ว คือ กว้าง 25 เมตร ยาว 5,000 เมตร และลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร ถือว่าผู้รับจ้างทำตามแบบรูปรายการถูกต้องแล้ว
...
แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ยึดถือปริมาณดินที่ขุดลอกไม่น้อยกว่า 260,680 ลูกบาศก์เมตร ด้วย เมื่อปริมาณดินที่ขุดลอกมีปริมาณน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง จึงได้มีการทักท้วงเพราะเห็นว่าทำให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของทางราชการ และให้ดำเนินคดีทั้งทางอาญา ทางแพ่ง และทางวินัย แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
กรณีนี้หน่วยงานของรัฐต้องมีความระมัดระวังในการกำหนดเงื่อนไขที่เกี่ยวกับปริมาณงานที่กำหนดให้ผู้รับจ้างดำเนินการให้ชัดเจนและใกล้เคียงกับปริมาณงานที่ทำจริง โดยจะต้องสำรวจพื้นที่และคำนวณปริมาณดินที่จะขุดลอกให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด เพราะอาจจะมีผลต่อการคิดคำนวณราคากลางของทางราชการ และราคาที่ผู้รับจ้างเสนอด้วย เพราะอาจทำให้ราชการเสียประโยชน์ ต้องจ่ายค่าจ้างให้ผู้รับจ้างแพงกว่าที่ควรจะเป็นได้
นี่อาจจะเป็นตัวอย่างอีกด้านหนึ่งถึงความไม่เข้าใจต่อกันระหว่าง หน่วยงานผู้ปฏิบัติ กับ เจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน
แต่อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดิน
ในกรณีที่คล้ายคลึงกัน ขอให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทุกภาค ไม่ใช่ภาคเหนือเห็นอย่างหนึ่ง พอไปภาคอีสาน หรือภาคใต้กลับวินิจฉัยไปคนละอย่าง.
“ซี.12”