ญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 ออกแถลงการณ์เตือน คสช.เพิ่มปมขัดแย้งหวั่นบานปลาย ยก 4 ข้อ ย้ำอย่าเสียสัตย์เพื่อรักษาอำนาจ แนะ "บิ๊กป้อม" ลาออก
วันที่ 4 ก.พ. 61 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 พร้อมตัวแทนญาติวีรชนฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลสร้างความปรองดองก่อนความขัดแย้งจะบานปลาย และหาข้อยุติคนหายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
โดยคำแถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ครอบครัวญาติวีรชนพฤษภา 35 มีมติเร่งรัดให้รัฐบาลโดยกองทัพ คืนวีรชนผู้สูญหาย และหาข้อยุติสำหรับเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ขอให้รัฐบาลเร่งสร้างสามัคคีในหมู่ประชาชนเพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคม และเป็นบทเรียนอนุสติแก่สังคมในการสร้างการปรองดองที่ยั่งยืนต่อไป การที่ คสช.ยึดอำนาจมาจากนักการเมืองโดยประกาศการปฏิรูปประเทศ และเร่งรัดขจัดนักการเมืองและข้าราชการที่มีพฤติกรรมทุจริตและคอร์รัปชัน เพื่อสร้างกระบวนการยุติธรรมให้เป็นมาตรฐานเดียว และขอเวลาในการทำงานเพียงไม่นานจะคืนความสุขให้นั้น ตลอดเวลากว่า 3 ปีที่ประชาชนให้เวลา คสช. ในการทำงานเพื่อได้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว แต่ คสช.กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณชน ไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยเฉพาะมีความพยายามที่จะยืดระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจออกไป จึงถือว่าเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ประชาชนเริ่มหมดศรัทธาที่เคยมีต่อ คสช.เสียแล้ว
แถลงการณ์ระบุต่อว่า ทั้งนี้กว่า 3 ปีที่ คสช. ใช้อำนาจในการบริหารประเทศนั้นถือว่าเพียงพอและมากเกินไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาชนจะส่งสัญญาณให้ คสช. ได้ทบทวนตัวเอง และรีบลงจากอำนาจไปโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 ได้เฝ้าติดตามความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองมาโดยตลอด หากผู้มีอำนาจไม่รักษาสัจจะที่มีต่อประชาชน ขอได้โปรดอย่าเสียสัตย์เพื่ออำนาจอีกเลย และไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภา 2535 จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
...
1. นายกฯ และหัวหน้า คสช. ต้องประกาศเป็นสัญญาประชาคมให้ชัดเจนเป็นครั้งสุดท้าย ว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้เมื่อไหร่ และต้องไม่เลื่อนโรดแม็ปอีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศและนานาชาติ 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ต้องพิจารณาตนเองด้วยการลาออกจากตำแหน่ง กรณีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินนาฬิกาหรู เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรม มีความสง่างามทางการเมือง เสียสละเพื่อประเทศชาติ และลดการเผชิญหน้าทางสังคม
3. รัฐบาลสามารถใช้อำนาจทางบริหารตาม ม.21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการ พ.ศ. 2553 ชะลอ หรือระงับการดำเนินคดีนักโทษทางการเมือง และนักโทษทางความคิดทั้งหมด เพื่อขจัดความขัดแย้ง สร้างการปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน
4. ไม่ใช้อำนาจพิเศษในบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมทางการเมือง หวังว่า คสช. จะตระหนักถึงสถานการณ์ที่อ่อนไหว ไม่ใช้อำนาจแบบพร่ำเพรื่อนำไปสู่การเผชิญหน้าทางสังคม โดยนำตัวเองไปเป็นคู่ขัดแย้งสร้างเงื่อนไขความรุนแรงเสียเอง ซึ่งหากเกิดวิกฤติครั้งนี้จะรุนแรงกว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กลายเป็นเคออสทางการเมือง จึงขอให้เร่งพิจารณาตามข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อดังกล่าว เพื่อขจัดความขัดแย้ง คืนความสุขให้ประเทศชาติโดยเร็ว