นับตั้งแต่ เรื่องของแหวนและนาฬิกา ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ถูกนำมาตีแผ่จนกลายเป็นกระแสดราม่าการเมือง ชะตากรรมของ พล.อ.ประวิตร บนตำแหน่งทางการเมืองเริ่มจะถูกกดดันมากขึ้นทุกที ตั้งแต่การเรียกร้องให้ตรวจสอบตามกระบวนการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคม ถึงแม้ว่าเรื่องราวต่างๆจะยังอยู่ในกระบวนการของ ป.ป.ช. หรือกระทั่งการออกมาประกาศกับสังคมของ พล.อ.ประวิตร พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและพร้อมจะลาออก ถ้าถูกชี้มูลความผิด หรือประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ออก

กลับกลายเป็นประเด็นให้อีกฝ่ายรุกไล่กดดันล่ารายชื่อประชาชนให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกให้ได้ ซึ่งคนละประเด็นกับเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประวิตร ที่ประกาศพร้อมจะลาออก เพื่อเป็นการแสดงสปิริต กลับถูกกดดันต้องการให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกในทันที ที่ผ่านมาประเด็นของ กระแสสังคมกับขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย ดูจะไม่สอดคล้องต้องกัน ถ้าสังคมของคนกลุ่มหนึ่งต้องการให้ผู้บริหารต้องรับโทษทางสังคมโดยไม่ยอมรับว่าผลของกระบวนการทางกฎหมายจะออกมาว่าถูกหรือผิดอย่างไร

ประเทศจะถูกปกครองโดยศาลเตี้ยไปฉิบ

มีความเห็นของ บัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีต สปช. พูดถึงประเด็นของ พล.อ.ประวิตร ที่พูดว่าพร้อมจะลาออกถ้าประชาชนไม่ต้องการ และนำประเด็นนี้มากดดันให้ พล.อ.ประวิตร ลาออกจากตำแหน่ง เป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะการล่ารายชื่อประชาชนหรือการทำโพล ไม่ใช่เป็นการลงประชามติ

ซึ่ง การทำประชามติ ในที่นี้ หมายถึงประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองว่ากฎหมายที่สำคัญได้ผ่านสภานิติบัญญัติ หรือตัดสินปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 170 บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ ดังนั้น ถ้าการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตร จะสิ้นสุดลงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่เช่นนั้นในอนาคตหากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่าตำแหน่งใด หากถูกประชาชนแสดงความเห็นให้พ้นจากตำแหน่งก็จะทำให้ประเทศไม่มีขื่อมีแป และนำไปสู่ความวุ่นวายไม่มีความสงบสุข

...

เรื่องวิบากกรรมของ พล.อ.ประวิตร ดูจะเป็นดราม่าการเมืองมาโดยตลอด การปรับ ครม.แต่ละครั้งก็มักมีเสียงเรียกร้องให้ปรับตำแหน่ง พล.อ.ประวิตร ทุกครั้ง โดยไม่มีการพูดถึงเหตุและผล ซึ่งถ้าจะพูดกันแบบตรงไปตรงมา ผลงานด้านความมั่นคงในทุกๆด้าน พล.อ.ประวิตร ก็ไม่มีอะไรเสียหาย บางเรื่องก็เป็นผลงานด้วยซ้ำไป แต่ไม่มีการหยิบยกสิ่งเหล่านี้มาวัดการกระทำของ พล.อ.ประวิตร ทุกเรื่องที่กล่าวถึง พล.อ.ประวิตร มีแต่ด้านลบมาตลอดแม้จะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ก็ตาม สิ่งเหล่านี้สังคมควรจะตรวจสอบเบื้องหลังที่มาที่ไปมากกว่า

สังคมจึงควรจะหันกลับมาทบทวนว่า จะปล่อยให้ประเทศไทยต้องฝากอนาคตไว้กับการชี้นำสังคมโดยคนกลุ่มหนึ่ง ที่ก้าวข้ามหลักกฎหมายและกรอบของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่าเป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th