แก้ทุจริต เดินหน้าหรือถอยหลัง
รัฐบาลชุดปัจจุบันที่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งมี คสช.เป็นเปลือกหุ้มอยู่นั้น นโยบายด้านปราบปรามคอร์รัปชันจึงต้องสอดรับกัน อย่างเป็นเนื้อเดียว
เพราะ คสช.หลังเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศได้ประกาศอย่างแน่วแน่ เหตุอย่างหนึ่งก็คือการทุจริตของรัฐบาลชุดนั้น
คือนโยบายรับจำนำข้าวที่มูลค่าความเสียหาย 5 แสนกว่าล้านบาท
นอกเหนือจากการปฏิรูปประเทศแล้ว การปราบปรามทุจริตก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้รัฐบาล คสช.มีความชอบธรรมและเป็นความหวังอีกเรื่องหนึ่งของประชาชน
แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีสมญาว่า “ปราบโกง”
คือมุ่งเน้นไปที่กลไกการปราบปราม การป้องกัน ด้วยการสร้างกฎกติกาให้มีความเข้มข้นขึ้นอย่างชัดเจน
นักการเมืองซึ่งถูกเพ่งเล็งมากที่สุด จึงมีกฎหมายที่มุ่งขจัดปัญหานับแต่เริ่มเข้าสู่เวทีการเมือง ต้องถูกตรวจสอบตั้งแต่แรก
อีกทั้งกลไกซึ่งทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามโดยตรงคือองค์กรอิสระที่เรียกว่า ป.ป.ช.นั้น ได้ถูกจาระไนใหม่โดย กรธ.
คือต้องมีคุณสมบัติระดับ “เทพ” ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ได้
การกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันจำนวน 9 คน หากมีคุณสมบัติต้องห้าม จะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
มีบางคนจะต้องพ้นจากตำแหน่ง หาก ก.ม.ลูกว่าด้วย ป.ป.ช.ที่มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ด้วยคนหนึ่ง
ปูมประวัติของประธาน ป.ป.ช.ท่านนี้ คงทราบกันดีว่ามีความผูกพันสนิทสนมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และญาติพี่น้องในตระกูลวงษ์สุวรรณ เป็นอย่างดี
ปรากฏว่าเมื่อ กรธ.ร่างเสร็จก็ส่งให้ สนช.พิจารณา กลับมีการแก้ไขใหม่คือกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ยังคงให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะหมดวาระ
...
เรียกว่าชุบชีวิตให้อยู่ในเก้าอี้ต่อไป
จึงมีคำถามว่า เป็นเรื่องถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่ เพราะคงไม่ใช่เรื่องธรรมดาแต่เป็นเรื่องของแวดวงอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย
กระทั่งได้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” หรือไม่?
ถ้าเปรียบเทียบกับ กกต. ซึ่งจะต้องถูก “เซ็ตซีโร่” ทั้งชุดแล้วมีเหตุอะไรจึงไม่ดำเนินการให้เป็นในลักษณะเดียวกัน
เอาอะไรใช้เป็นบรรทัดฐานตัดสิน
นี่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลามากพอสมควร ทำให้เข้าทางการเลือกตั้งที่จะต้องเลื่อนออกไปอีก
แต่ที่กำลังสนใจกันอย่างยิ่งก็คือกรณี “นาฬิกาพี่ใหญ่” ซึ่ง ป.ป.ช.จะต้องตัดสินชี้ว่ามีความผิด หรือเป็น “นาฬิกาเพื่อน” ที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่
การตัดสินของ ป.ป.ช. ถ้าออกมาว่ามีความผิดก็แล้วไป ทว่า พล.ต.อ.วัชรพล แม้จะร่วมลงคะแนนตัดสิน แต่ก็เกิดปัญหาทางใจแน่
หรือออกมาว่าไม่ผิด เชื่อว่าเพื่อนให้ยืมใส่จริงๆ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ผู้คนในสังคมจะเชื่อหรือไม่ ป.ป.ช.จะต้องเสียหายมากน้อยแค่ไหนอย่างประเมินมิได้
การสร้างกลไก ป.ป.ช.ให้เข้มแข็ง ได้รับความเชื่อถือจากสังคม มีความโปร่งใส ยุติธรรม จะเกิดอะไรขึ้น การไม่ยอมรับจากสังคม
แล้วการปฏิรูปมันก็จะ “ล้มเหลว” อย่างสิ้นเชิง.
“สายล่อฟ้า”