ผมเพิ่งเล่าเรื่องผู้นำหนุ่มฝรั่งเศส ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ไปประกาศในเวทีประชุมโลกที่ เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม 2018 เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ต่อหน้าผู้นำโลกจำนวนมากว่า เขาจะสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในฝรั่งเศสทั้งหมดภายในปี 2021 วันนี้
ก็มีข่าวดีจากรัฐบาลครับ คุณศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีพลังงาน ประกาศชัดเจนว่า จะเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาออกไป 3 ปี เพื่อตั้งต้นกันใหม่ ในอนาคต หากพบว่าไม่จำเป็น ก็จะเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเลย
ผมขอบคุณการตัดสินใจของ คุณศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีพลังงาน ไว้ตรงนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญเด็ดขาด ความจริง ไทยมีพลังงานทางเลือกมากมาย เพียงแต่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ไม่พยายามส่งเสริมให้มีขึ้น และจำกัดการซื้อเข้าระบบ แถมยังให้ข้อมูลครึ่งๆกลางๆ ทำให้คนเข้าใจผิดอีก วันหลังผมจะเล่าให้ฟัง
วันนี้ไปดูผลการตัดสินใจของ รัฐมนตรีพลังงาน กันก่อนครับ ท่านแถลงหลังจากประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อทบทวนแผนพีดีพี 2561 หรือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าครั้งใหม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ ทบทวนแผนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ โดยมีมติ ให้เลื่อนออกไป 3 ปี ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ก็ให้ศึกษารายงานผลกระทบต่อไปจนเสร็จ
เมื่อมีการ ประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็พบความจริงว่า ภาคใต้พึ่งไฟฟ้าจากส่วนกลางเพียง 17% หรือ 460 เมกะวัตต์ แม้จะเลื่อนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่ง ช่วง 5 ปีข้างหน้า ภาคใต้ก็ยังสามารถรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไว้ได้ ไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่ กฟผ.ให้ข่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ กฟผ.ต้องทำให้สิ่งที่พึงทำ ดังต่อไปนี้
1.ให้ กฟผ.เพิ่มจำนวนและขนาดสายส่งไฟฟ้าแรงดันสูง (ต้องทำมานานแล้ว) เพื่อเชื่อม 2 โรงไฟฟ้าหลัก คือ “ขนอม” และ “จะนะ” ที่มีกำลังการผลิต 2,400 เมกะวัตต์ เข้าด้วยกัน แล้วส่งไฟฟ้าตรงไปเมืองที่มีการใช้ไฟฟ้ามากในฝั่งทะเลอันดามัน และ เชื่อมกับสายส่งจากภาคกลางที่สถานีสุราษฎร์ธานี (ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ แต่ กฟผ.ก็ไม่ทำเสียที ตั้งหน้าจะสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จีน ให้ได้)
...
2.ให้พัฒนาระบบสายส่ง ซึ่ง กฟผ.มีแผนจะขยายสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้เป็น 1,000 เมกะวัตต์อยู่แล้ว (เรื่องนี้ไม่ควรรอให้สั่งด้วยซ้ำ) รวมทั้ง การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มอีก 300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 100 เมกะวัตต์
รัฐมนตรีพลังงาน กล่าวว่า แม้ภาคใต้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 2,600 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้เพียง 2,000 เมกะวัตต์ จำเป็นต้องนำไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วย โดยเฉพาะจุดท่องเที่ยว แต่การเลื่อนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหา เพราะมีมาตรการรองรับช่วยลดโหลดไฟฟ้าได้ถึง 10-15% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
รัฐมนตรีพลังงาน ยืนยันว่า การจัดทำ “แผนพีดีพีฉบับใหม่” จะมีการเปลี่ยนกระบวนการวางแผนใหม่ จะไม่มีการกำหนดสัดส่วน “การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน” ในแผนพีดีพีอีกแล้ว แต่จะระบุไว้เป็น “ทางเลือก” เท่านั้น ส่วนพลังงานชนิดอื่นจะระบุไว้ว่า ควรมีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดใดบ้าง แต่จะไม่ระบุเจาะจงถึงจำนวนกำลังการผลิต เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนแผนตามความเหมาะสม
“ความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ ในอนาคตอาจจะน้อยลงหรือยังไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับการศึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจ บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม ถ้าไม่เหมาะสมก็เลิก แล้วศึกษาแนวทางอื่นควบคู่กันไป ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องเร่งรัดตัดสินใจว่า จะสร้าง หรือ ไม่สร้าง ให้ไปศึกษาก่อน 3 ปีค่อยมาตัดสินใจ”
ผมเห็นด้วยกับ รัฐมนตรีพลังงาน ครับ ที่ผ่านมาเปลี่ยนแผนพีดีพีกันเป็นว่าเล่น เปลี่ยนทีก็ เพิ่มไฟฟ้าถ่านหิน เข้าไปทุกที อ้างว่าเพื่อกระจายเชื้อเพลิง ทั้งที่วันนี้ ไฟฟ้าจากแสงแดดถูกกว่าเยอะ แต่ กฟผ.กลับอ้างว่าไม่เสถียร ความจริง แดดไทยแรงจริง ทำให้เสถียรไม่ยาก แถมยังมีใช้วันละ 7–8 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่ 4–5 ชั่วโมง ที่อ้างกันมั่วๆ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”