คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาตาม โครงการไทยนิยมยั่งยืน หรือ โครงการประชารัฐ เฟส 2 ประชุมนัดแรก ไปเมื่อวันก่อน มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นเลขานุการ ได้ข้อสรุปให้นำนโยบายไปชี้แจงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำรวจ ทหาร และข้าราชการฝ่ายปกครอง หลังจากนั้นทำความเข้าใจกรอบการทำงานในระดับตำบล เริ่มปฏิบัติงานกันได้จริงในวันที่ 21 ก.พ.นี้ มีกิจกรรมลงพื้นที่ 4 ครั้ง ใช้เวลา 4 เดือน เป็นการรับทราบความต้องการของประชาชน และรัฐจะได้จัดรูปแบบของโครงการให้ตรงกับความต้องการของประชาชน โดยมีงบประมาณในการดำเนินการที่ 2,000 ล้านบาท

ทันทีที่เริ่มจะ คิกออฟโครงการไทยนิยมยั่งยืน เท่านั้นแหละก็มีเสียงวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองทันทีว่า รัฐบาลต้องการที่จะทำโครงการนี้เพื่อหาเสียง ข้างรัฐก็อ้างว่า เป็นหน้าที่ของรัฐทุกรัฐบาลที่จะต้องดูแลประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคง ปลอดภัยอิ่มปากอิ่มท้อง ซึ่งถ้าจะมองในรูปแบบของโครงการก็จะเกิดจากเจตนารมณ์เดียวกับ โครงการประชานิยม โครงการประชารัฐ หรืออีกหลายๆโครงการในรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น โครงการเงินผัน สมัยรัฐบาล คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น

เพราะฉะนั้นถ้าจะเถียงกันเรื่องประชานิยมไม่ประชานิยม หาเสียงไม่หาเสียง เป็นเรื่องที่เหนือเหตุผลและกาลเวลา หรือถึงขนาดจะทำให้โครงการต้องระงับหรือยุติไปเลย เช่น โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และเทพา สิ่งที่จะตามมาคือผลกระทบกับคนรุ่นหลังอย่างมหาศาล

บางครั้งในเรื่องเดียวกันอาจจะมองได้ในหลายมิติ ประเด็นอยู่ที่ว่า จะต้องแยกแต่ละมิติออกจากกัน ไม่ใช่ต้องการขัดขวางหรือทำลายเพราะเหตุผลทางการเมืองเท่านั้น ยกตัวอย่าง โครงการรับจำนำข้าว ถามว่าดีหรือไม่ ภาพรวมแล้วก็ต้องตอบว่าดี เพราะเป็นการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร เหมือนการประกันค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน อาชีพเกษตรกรก็มีความมั่นคงขึ้น ปัญหาความยากจนก็จะค่อยๆหมดไป

...

เพียงแต่ว่าต้องแยกเรื่องของการทุจริตในโครงการนี้ออกมาต่างหาก ในส่วนการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ก็ต้องได้รับการแก้ไขในส่วนที่บกพร่อง ไม่ใช่ล้มไปทั้งโครงการ เพราะผลกระทบจะเกิดกับเกษตรกรโดยตรง

ส่วนจะบอกว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่หาเสียง ไม่ใช่อยู่ที่โครงการ แต่อยู่ที่การปฏิบัติ อย่างเช่นในรัฐบาลบางรัฐบาลที่ผ่านมา เอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแจกในโรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้า หรือเอาของไม่ดีใช้งานไม่ได้ไปแจกให้กับชาวบ้าน ถือว่าส่อเจตนาทั้งการทุจริตและบกพร่องในการทำงาน มุ่งแต่การหาเสียงไม่ลืมหูลืมตา

สมมติว่า เป้าหมายของ ไทยนิยมยั่งยืน คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน แก้ปัญหาความยากจนในระยะยาวแล้วชาวบ้านพึงพอใจ ก็จะกลายเป็นคะแนนนิยมโดยปริยาย จะไปโทษรัฐบาลก็คงไม่ได้

ของอย่างนี้ไม่ต้องโฆษณา ดูอย่างโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ผ่านมากี่ปีชาวบ้านก็ยังจดจำโครงการนี้ได้ขึ้นใจ เพราะถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขโดยตรง กลายเป็นต้นทุนของพรรคเพื่อไทยมาจนทุกวันนี้

ประเภทเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ไปไม่กลับหลับไม่ตื่น.

หมัดเหล็ก