ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยเสียงท่วมท้น มีการแก้ไขที่สำคัญ คือ เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน ในขั้นแรก สนช.อ้างว่าไม่ได้ทำตามใบสั่ง คสช. แต่แก้ไขให้สอดคล้องกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการกำหนดเวลาให้พรรคทำตามกฎหมายพรรค
ต่อมากรรมาธิการผู้ผลักดันการแก้ไข ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อย 3 เดือน อ้างว่าแก้ไขเพื่อ “การปฏิรูปการเมือง” เลื่อนเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาพอที่จะทำการเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารีให้สมาชิกพรรคเลือกผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อป้องกันนายทุนหรือเจ้าของพรรคครอบงำ
ระบบไพรมารีจะแก้ปัญหานายทุนครอบงำพรรคได้จริงหรือ? ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมาหลายร้อยปี อย่างสหรัฐอเมริกา อาจแก้ไขได้ เพราะการเมืองเป็นระบบสองพรรค ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง พรรคใหญ่แต่ละพรรคมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งนับแสนนับล้าน จึงแห่ออกมาเลือกผู้สมัครของพรรคในแต่ละเขต จนพรรคไม่อาจครอบงำได้
แต่พรรคการเมืองไทยแต่ละพรรค โดยเฉพาะพรรคใหม่หรือพรรคเล็ก มีสมาชิกในแต่ละเขตแค่หลักสิบหรือหลักร้อย ประกอบกับระบบอุปถัมภ์ยังแข็งแกร่ง นายทุนหรือกรรมการพรรค ยังสามารถชี้นำให้เลือกใครได้ จึงไม่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง เช่นเดียวกับการถอยหลังไปกว่า 40 ปี เพื่อฟื้นการหาเสียงด้วยการจัดมหรสพ ก็เป็นการเมืองที่ล้าหลัง
แม้แต่ กกต.ผู้มีอำนาจหน้าที่ จัดการเลือกตั้ง ก็คัดค้านร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.ถึง 6 ประเด็น เพราะห่วงว่าอาจขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ รวมทั้งการหาเสียงด้วยการจัดแสดงมหรสพ และการให้ผู้สมัคร ส.ส.แบบเขตของพรรค มีหมายเลขต่างกัน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองถอยหลัง เพราะกลับคืนสู่ยุค “เลือกตัวบุคคล” แทนที่จะเน้น “เลือกพรรค”
...
อาจเป็นการตอบสนองต่อระบอบใหม่ ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยไทยนิยม” เป็นประชาธิปไตยที่รื่นเริงครึกครื้นด้วยมหรสพ และส่งเสริมการเลือกบุคคล จากการสดับตรับฟังความเห็นของพรรคการเมือง ส่วนใหญ่เชื่อว่าเหตุที่แก้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อเอื้อให้พรรคใหม่ๆที่จะสนับสนุนหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี มีความพร้อมที่จะลงสู่สนามเลือกตั้ง
แม้ผู้นำ คสช.อาจได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียงสนับสนุนของ ส.ว.แต่งตั้ง 250 เสียง บวกกับ ส.ส.อีกแค่ 126 เสียง แต่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลจะเป็นเสียงข้างมาก อาจเปิดอภิปรายล้มนายกรัฐมนตรีได้โดยง่าย หรือไม่ก็จับมือกันคว่ำร่างกฎหมายสำคัญๆของรัฐบาล.