นายกฯ ถก "ทรัมป์" ยันความสัมพันธ์ดี 2 ประเทศ แสดงความเสียใจภัยพิบัติพายุเฮอริเคน-โศกนาฏกรรมเวกัส พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือทุกด้าน สนับสนุนการค้าการลงทุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่อยู่ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-5 ต.ค.ว่า เมื่อเวลา 17.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 11 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีและนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา ได้เข้าพบกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยาในห้องรูปไข่ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงผลการหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ  ดังนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยา สำหรับการต้อนรับอย่างดียิ่ง เต็มไปด้วยมิตรไมตรี และบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง ซึ่งนับว่าการเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ซึ่งเป็นการเยือนในระดับนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการของไทยในรอบ 12 ปี ประสบผลสำเร็จน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง

...

และนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนที่เปอโตริโก และเหตุโศกนาฏกรรมที่ลาสเวกัสด้วย ไทย-สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นมิตรกันมายาวนาน 184 ปี ในปีนี้ และย้อนไปเกือบ 200 ปี สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งนี้ ไทยและสหรัฐฯ ต่างมีนโยบายและแนวทางเดียวกันคือ การให้ความสำคัญกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งนโยบาย America First ของ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบาย Thailand 4.0 ของไทย เพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน อย่างเท่าเทียมและครอบคลุม

ในการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรี ได้เผยถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่ ด้านความมั่นคง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เห็นพ้องร่วมกันว่าเป็นเสาหลักสำคัญของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ และมีส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งตัวอย่างความร่วมมือที่ดี ได้แก่ การฝึกซ้อม Cobra Gold พร้อมกันนี้ ไทยและสหรัฐฯ จะขยายความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญนาง Ivanka Trump บุตรสาวประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีความสนใจและมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เยือนไทยเพื่อดูงานและความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหา นอกจากนี้จะขยายความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์ ด้านข่าวกรอง พร้อมทางหาแนวทางว่าจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อเสริมสร้างสันติสุขในภูมิภาค รวมทั้ง การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ ด้วย

ด้านความร่วมมือเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นต่างๆ เช่น สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี ซึ่งไทยยืนยันดำเนินการตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และสนับสนุนให้เกาหลีเหนือเข้าสู่การเจรจา ส่วนสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ไทยและสหรัฐฯ ร่วมผลักดันการแก้ปัญหาตามหลักมนุษยธรรม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวด้วย

การค้าและการลงทุนตามสนธิสัญญาไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ปี ค.ศ. 1966 ทำให้นักธุรกิจอเมริกันได้ประโยชน์เหมือนคนไทยในการลงทุนที่ประเทศไทย พร้อมทั้ง ร่วมผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น โดยกลไกที่มีอยู่ พร้อมตั้งกลไกใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนหามีปัญหาติดขัด โดยขณะนี้นักลงทุนไทยมีการลงทุนในสหรัฐฯ ทั้งหมด 23 บริษัท มูลค่าการลงทุนรวม 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแผนเพิ่มการลงทุนอีกรวม 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะสามารถสร้างงานได้มากกว่า 8,000 ตำแหน่ง จึงขอให้สหรัฐฯ ได้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนไทยเหล่านี้ พร้อมทั้งขอให้สหรัฐฯ เปิดตลาดสินค้าเกษตรไทยมากขึ้น

ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท PTTGC America LLC กับหน่วยงาน JobsOhio ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษา วางแผน และจัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ในพื้นที่เขตเบลมอนต์ (Belmont County) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมี.