"มีชัย" ยันทำร่าง พ.ร.ป.เสร็จตามกรอบที่วางไว้ ชี้ถ้าเลื่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเพราะเหตุอื่น ปัดเกี่ยว กรธ. เผยรัฐเร่งทำ พ.ร.บ.ขั้นตอนตามมาตรา 77

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 60 ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่า ขณะนี้ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จจากเดิมที่กำหนดให้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ยืนยันจะพยายามทำให้แล้วเสร็จในวันนี้ (2 ต.ค.) เพื่อส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาแล้วเสนอความเห็นกลับมา ทั้งนี้ต้องทำร่าง พ.ร.ป.จนเสร็จตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้ แต่ถ้าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็เลื่อนเพราะเหตุอื่น ไม่ใช่เป็นเพราะ กรธ.ทำร่าง พ.ร.ป.ไม่เสร็จ ซึ่งต่อให้ กรธ.ต้องนัดประชุมทำงานกันจนสว่างคาตา เราก็ต้องทำ

นอกจากนี้ นายมีชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมาย ขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามบทบัญญัติในมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้จัดทำเป็นเบื้องต้น แล้วนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายช่วยพิจารณา ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจดูอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จึงทำให้ต้องเสนอรัฐบาลพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจะส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้จะกำหนดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไรในการออกกฎหมายต่างๆ จะใช้การวิเคราะห์อย่างไร และคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องเข้าไปทำส่วนใด จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ หรือไม่ อย่างไร และจะมีการประเมินผลว่าเมื่อกฎหมายนั้นออกสู่การบังคับใช้แล้วได้ผลจริงตามเจตนาหรือไม่ อย่างไร

...

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.หลายฉบับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จึงทำให้มีผู้เรียกร้องว่าขอให้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายนั้นๆ ให้ชัดเจนก่อน นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของ สนช.แล้ว คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นั้นๆ ของ สนช.สามารถจัดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมอีกได้ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมกับให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม โดยไม่ต้องรอการออกกฎหมายขั้นตอนรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายใดที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วทำให้ประชาชนวิจารณ์ว่ากฎหมายนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่เขาเข้าใจ หน่วยงานเจ้าของกฎหมายดังกล่าวสามารถไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอีกได้เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่อไป  

เมื่อถามว่า ดูเหมือนรัฐบาลใช้ช่องทางการรับฟังความคิดเห็นแบบธรรมดา และไม่ค่อยเข้าถึงประชาชน นายมีชัย กล่าวว่า รัฐบาลมีการกระจายไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาค ซึ่งบางเรื่องมีการสอบถามผ่านทางเว็บไซต์ ทั้งนี้ ประชาชนต้องใส่ใจสนใจการมาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งตนกำลังคิดวิธีที่ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถยื่นความประสงค์ว่าสนใจกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องใด เพื่อจะได้แจ้งต่อคนเหล่านั้นทราบเมื่อมีกฎหมายเรื่องนี้เขาแจ้งความสนใจเข้ามา เพื่อให้เขามาร่วมเสนอความเห็นอย่างทั่วถึง