ปฏิรูปกฎหมาย ปิดช่องหนีคุก
ตัวอย่างหลายคดีมาแล้วที่จำเลยหรือผู้กระทำผิดได้ใช้ช่องทางหนีศาลเพื่อไม่ให้ถูกลงโทษ หนทางที่ดีที่สุดก็คือการหนีออกไปต่างประเทศ
รายล่าสุดก็คืออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่ยอมไปฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าวด้วยการหลบหนีออกนอกประเทศ
ที่สุดก็ต้องไปลับมีความผิดติดตัวไปตลอดชีวิต
จนศาลต้องพิจารณาคดีลับหลังและตัดสินว่ามีความผิดจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา นั่นหากไม่หนีไปก่อนก็ต้องติดคุกอย่างไม่มีทางเลือก
หากนั่นเป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วไปคงทำไม่ได้ เพราะนอกจากไม่มีเงิน ไม่มีคอนเนกชั่น ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน พูดภาษาต่างประเทศก็ไม่ได้
ทางเดียวก็คือ “ติดคุก” หัวโตไปตามโทษฐานความผิด
นี่เป็นความรู้สึกในบรรยากาศสังคมไทยในห้วงเวลานี้และพูดกันเสมอว่า “คุกเอาไว้ขังคนจน” ทำนองนั้น...
เผอิญที่ว่าในสังคมประเทศได้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมว่าด้วยการออกกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว
ประเด็นสำคัญก็คือได้มีข้อกำหนดที่ทำให้ศาลมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินคดีกับนักการเมืองอย่างตรงประเด็น
สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้หากจำเลยไม่มาศาล
ไม่มีอายุความหากจำเลยไม่มาศาลในวันนัดหมายอ้างว่าด้วยเหตุอันใดก็ตาม โดยเฉพาะพวกที่หลบหนีไปต่างประเทศศาลจะหยุดการพิจารณาคดีแต่จะไม่นับอายุความจนกว่าจำเลยจะมาศาลจึงเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันนั้น
คดีอาญาทางการเมืองจะไม่มีอายุความแต่อย่างใด
ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์จำเลยจะยื่นได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ซึ่งข้อกฎหมายใหม่นี้ออกมาหลังคดีจำนำข้าวเพียงไม่กี่วันแต่มีผลบังคับใช้ได้ทันที จึงทำให้ผู้ต้องหาคดีนี้จะต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตนเอง
แต่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ซึ่งหลบหนีอยู่ต่างประเทศหากต้องการอุทธรณ์คดีก็ต้องเดินทางกลับประเทศไทย เพราะมีเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น
หากไม่มาคดีนี้ก็ต้องจบไปโดยปริยายด้วยมีโทษกำกับเอาไว้ด้วยการติดคุก 5 ปีไปจนตลอดชีวิต
หมายความว่าหากไม่ยอมกลับมาติดคุกก็ต้องหนีไปตลอดชีวิต
อีกทั้งมีการวิเคราะห์ว่าด้วยกฎหมายใหม่นี้สามารถนำไปใช้กับคดีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองอีกหลายคนได้
แม้กระทั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ยังหลบหนีคดีด้วย
ด้วยการปฏิรูปกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองโดยตรงแล้วยังมีการจัดตั้งศาลทุจริตที่จะพิจารณาคดีทุจริตโดยตรงของนักการเมือง ข้าราชการ
ซึ่งศาลทุจริตนั้นจะเป็นศาลพิเศษพิจารณาคดีทุจริตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อแยกออกจากปกติซึ่งมีคดีมากอยู่แล้ว
เมื่อแยกออกมาจะทำให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาคดีต่างๆ ที่ทำให้สามารถตัดสินคดีทุจริตได้รวดเร็วไม่ล่าช้าเหมือนอย่างที่ผ่านมา
ลบล้างคำว่าการพิจารณาคดีล่าช้า ก็คือส่วนหนึ่งของความไม่ยุติธรรม.