"จาตุรนต์" เชื่อเลือกตั้งถูกเลื่อนไปอีกนาน หลัง "บิ๊กตู่" ให้รอทุกฝ่ายปรองดอง เพิ่มเป็นเงื่อนไขใหม่ ท่ามกลางความขัดแย้งสะสมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนข้ออ้างเข้าสู่อำนาจทำล้มเหลว

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 60 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่างถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุชี้แจงกับนักลงทุนญี่ปุ่นเมื่อกระบวนการกฎหมายพร้อม ทุกฝ่ายปรองดอง ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งว่า ฟังจากคำชี้แจงแล้ว ทำให้คาดว่าการเลือกตั้งคงถูกเลื่อนออกไปช้ากว่าเดิม เพราะว่าทางฝ่ายที่ร่างกฎหมายอยู่ เช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พูดเองว่า การเขียนกฎหมายลูกมีความยากลำบากมาก ถึงขนาดขอสื่อมวลชนอย่าถามว่ามีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ดังนั้น มีความเป็นไปได้มากที่ฝ่ายกฎหมาย จะใช้เวลานานเพื่อให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป การตั้งเงื่อนไขของ พล.อ.ประยุทธ์​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ ยิ่งทำให้ฝ่ายกฎหมายใช้เวลาร่างนาน และทำให้การเลือกตั้งยืดออกไป

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การชี้แจงของนายกฯ ครั้งนี้ ยังเป็นการเพิ่มเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา คือ ถ้าให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือปรองดองเกิดขึ้นแล้วจะมีการเลือกตั้ง ถ้าพูดอย่างนี้ก็อาจจะไม่มีการเลือกตั้งไปอีกนาน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลและ คสช.ก็ไม่ได้ทำอะไรให้เกิดความปรองดองขึ้น นอกจากนั้น ยังได้สะสมความขัดแย้ง สร้างเงื่อนไขทำให้เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งความขัดแย้ง คสช. รัฐบาล และประชาชนที่เห็นต่างจาก คสช. มีการใช้อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ สามารถตั้งตัวเองเป็นกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย เลือกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกระบวนการปรองดองที่ผ่านมาก็ล้มเหลวไม่เกิดผลอะไร ดังนั้น ถ้าตั้งเงื่อนไขปรองดองก่อนแล้วจะมีการเลือกตั้ง ก็คล้ายกับว่า จะไม่มีการเลือกตั้งเลื่อนไปเรื่อยๆ

...

"ที่ผมวิจารณ์นี้ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องการเลือกตั้ง แต่ห่วงอยู่ 2 อย่าง คือ การไม่กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน และทำให้คนไม่แน่ใจว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ จะทำให้นักลงทุนทั้งหลายไม่กล้าลงทุน แม้จะเดินทางมาเมืองไทยให้สัญญาว่าจะลงทุนในประเทศไทย แต่ถ้าไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็อาจทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไป ข้อสองการตั้งเงื่อนไขแบบนี้ทำให้ไม่เกิดความปรองดอง เพราะว่าผู้ที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ ก็จะไม่พยายามสร้างความปรองดอง หรือสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่มีการเลือกตั้ง" นายจาตุรนต์ กล่าว

เมื่อถามว่า ความขัดแย้งของกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองกับการคดีสลายการชุมนุม ที่ต่างฝ่ายมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จะกลายเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งของความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร ส่ิงที่เกิดตามมาคือเกิดการจัดการในกรณีเหล่านี้ที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้มีผู้ที่ถูกลงโทษอยู่ฝ่ายเดียว ในขณะที่มีบางฝ่ายอยู่ในสภาพที่คนมองว่าทำอะไรก็ไม่ผิดกฎหมาย สภาพอย่างนี้ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม และเป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรปรองดอง ย่ิงถ้าเอาเรื่องความปรองดองมาเป็นเงื่อนไขที่จะให้มีการเลือกตั้ง มันจะไม่เกิดขึ้นอะไรสักอย่าง ทั้งการปรองดองและการเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นส่ิงที่สำคัญเวลานี้คือการทำให้นักลงทุนทั้งหลายเกิดความเชื่อมั่นว่า ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นักลงทุนจะได้มาลงทุนมากขึ้น เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น และควรให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ใช้กฎหมายให้ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันเพื่อความปรองดอง

เมื่อถามว่า มองผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไรบ้าง หากการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจากโรดแม็ปที่วางไว้ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ความพยายามที่จะให้การเลือกตั้งยืดออกไปให้นานที่สุด เป็นความมุ่งหมายตั้งแต่ต้นพียงแต่ว่า เมื่อไปตอบคำถามประเทศต่างๆแต่ละครั้ง มักจะถูกบีบให้ไม่สามารถยืดออกไปเรื่อยๆ ได้อย่างไม่มีกำหนด แต่ดูเหมือนจุดมุ่งหมายนี้ยังดำรงอยู่ ซึ่งอย่างที่พูดจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ไม่มีผลอะไรต่อประเทศมากนักในทางการเมือง

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่น่าเป็นห่วงคือ เศรษฐกิจ และความเดือดร้อนประชาชน กับขณะนี้เมื่อตั้งเงื่อนไขใหม่ ส่ิงที่น่าเป็นห่วงคือความขัดแย้งในสังคมจะมากขึ้น และทำให้ยากแก่การที่จะเกิดความปรองดอง และความขัดแย้งที่ไม่ใช่สองฝ่ายตั้งแต่ คสช. และย่ิงวันมีความชัดเจนมากขึ้นว่า คสช.เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ในแง่ของการสร้างความปรองดองทำให้ประเทศอยู่ในสภาพที่มีการรักษากฎหมายอย่างยุติธรรมเท่าเทียมกัน และทุกคนต้องยู่ภายใต้กฎหมายก็ไม่ได้ดีขึ้น และอาจเท่ากับว่าได้แสดงให้เห็นแล้วด้วยว่า ความพยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ตามที่อ้างในการเข้ามาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง