อธิบดีกรมที่ดิน โต้ "วิรัตน์" แก้ปัญหาอัลไพน์ไม่มีทางอื่น นอกจากตรา พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ชี้คำสั่ง "ยงยุทธ" ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสภาพทาง ก.ม.ของที่ดิน

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 60 นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวถึงกรณีที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การที่กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ให้ สนช.เห็นชอบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีต รมว.มหาดไทย นั้น ขอชี้แจงว่า

1. กรณีที่ นายวิรัตน์ ระบุว่า ควรทำให้ที่ดินกลับไปเป็นของวัดนั้น การเป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นไปโดยสภาพของที่ดิน ที่ดินใดเป็นที่ธรณีสงฆ์แล้ว การโอนจะต้องตราเป็น พ.ร.บ.หากมีการนำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด ก็ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายของที่ธรณีสงฆ์ กรณีจึงไม่อาจใช้วิธีการอื่นที่จะทำให้ที่ดินแปลงนี้ พ้นจากสภาพการเป็นที่ธรณีสงฆ์ได้ หากผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ต้องการโอนที่ดินให้แก่เอกชน ก็ต้องตรา พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ดังนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยชอบ ด้วยกฎหมายตามที่กล่าวแล้วข้างต้น โดยกรณีดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นายประทีป กล่าวด้วยว่า 2. กรณีที่ระบุว่า ดำเนินการดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้าของที่ดิน ที่เขียนพินัยกรรมว่ามอบให้วัดอย่างชัดเจน และเป็นการเปิดช่องให้ นายยงยุทธ หยิบยกกฎหมายนี้มาต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ได้ ซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ นายยงยุทธ พ้นจากความผิดได้นั้น อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2544 เพิกถอนรายการจดทะเบียน และโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยกทั้งหมด ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งต่อมามีผู้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และ นายยงยุทธ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เห็นว่าคำอุทธรณ์ฟังขึ้น จึงสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ต่อมา ป.ป.ช.พิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง และศาลได้ตัดสินจำคุก 2 ปี โดยการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกเลิกคำสั่งของกรมที่ดิน มีผลแต่เพียงทำให้ขั้นตอนต้องหยุดชะงักลงเท่านั้น แต่ไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกฎหมายของที่ดิน ที่เป็นที่ธรณีสงฆ์ คำสั่งวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้นผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ก็อาจเพิกถอนคำสั่งที่ขัดต่อกฎหมายและทำคำสั่งใหม่ได้เสมอ โดยคำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์ของสาธารณะประกอบกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเกินควรแก่กรณี ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

...