กรธ.ยัน ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์คดีสลายม็อบพันธมิตร เป็นสิทธิทำได้ทันที แม้ ก.ม.อาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ยังไม่ประกาศบังคับใช้
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.60 ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 195 ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าว
อย่างไรก็ตามการอุทธรณ์สามารถกระทำได้ทันที แม้ในเวลานี้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม ในทางปฏิบัติหากมีการยื่นอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนตัวคิดว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสามารถใช้วิธีพิจารณาตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ไปได้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและฉบับใหม่ มีหลักการไม่แตกต่างกันมากนัก
เมื่อถามว่า ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลฎีกา จะมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า กรณีนี้เป็นหลักการเดียวกับอัยการ ซึ่งอัยการไม่ได้ถูกบังคับ ดังนั้นคงไปบังคับ ป.ป.ช.ไม่ได้ เพราะการมีช่องทางในการอุทธรณ์คดี ไม่ว่าจะเป็นโจทย์หรือจำเลยถือเป็นเรื่องของการใช้สิทธิ.