จริงๆแล้วการจ่าย “สินบน” และ “เงินรางวัล” ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีแค่เฉพาะกรมศุลกากรเท่านั้น
ในปี 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติจ่ายเงินรางวัลสำหรับคดียาเสพติดไปเป็นเงิน 286 ล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากรจ่ายโดยเฉลี่ยมากถึงปีละ 839 ล้านบาท ยังครองแชมป์ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ประเทศไทยมีการออกกฎหมายให้มีการจ่ายสินบนและเงินรางวัลเพิ่มขึ้นแทบทุกปี จาก 125 ฉบับ เมื่อปี 2547 มาเป็น 132 ฉบับ ในปี 2555 มีทั้งของตำรวจ กรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก กรมป่าไม้ และหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด
...
ร้อยทั้งร้อยทุกหน่วยงานมีเหตุผลแบบเดียวกันว่า เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่มีขวัญกำลังใจ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น และลดปัญหาเจ้าหน้าที่รับสินบน
จากระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ข้ออ้างดังกล่าวไม่ได้ทำให้สังคมไทยดีขึ้นหรือน่าอยู่ขึ้น ซ้ำร้ายสินบนและรางวัลนำจับยังเป็นจุดเริ่มก่อเกิดปัญหาการกลั่นแกล้ง ความไม่เท่าเทียม การคอร์รัปชัน ยังคงอยู่ ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลยแม้แต่น้อย
งานวิจัยระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของ ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ และคณะสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ใช้ระบบการให้เงินสินบนและเงินรางวัลจากส่วนแบ่งค่าปรับในอัตราที่สูงมาก ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตตามมา
เช่น การสร้างพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินสินบน
นอกจากนี้ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ในลักษณะมีการเรียกรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ ทำให้ชี้ชัดลงไปได้ว่า พ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 102 ตรี ระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัล ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย
ซ้ำร้าย...เงินสินบนกองมหึมาเหล่านั้น ยังเสมือนมะเร็งร้ายสูบเลือดสูบเนื้อ “รายได้” ที่ควรจะตกเป็นของ “แผ่นดิน” ให้หดหายลดน้อยลงไปเป็นจำนวนมหาศาล...เห็นได้จากตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่และสายลับเทียมรับเงินสินบนและรางวัลไปแล้วกว่า 10,343 ล้านบาท
ที่สำคัญ การกำหนดสัดส่วนหรือส่วนแบ่งของเงินรางวัลตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2517 ยังได้กำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรได้ส่วนแบ่ง 12 ส่วน รองอธิบดี 11 ส่วน
...เป็นกรณีที่หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจออกระเบียบหรือกำหนดให้ตนเองหรือผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานมีสิทธิรับเงินรางวัลในสัดส่วนที่สูงกว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยตรง
ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีเงินรางวัลที่ต้องการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ระบุพฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายการมี “ประโยชน์ทับซ้อน” หรือ Conflict of interest
จากผลประโยชน์มหาศาลทับซ้อนกันอยู่ภายในกรมศุลกากร ได้ปรากฏเป็นเรื่องฉาวขึ้นมาจากเอกสารหลักฐานชิ้นหนึ่ง ที่มีผู้หวังดีส่งสำเนามาให้ เป็นเอกสารประทับตรา “ลับที่สุด”
ส่วนราชการ กลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 เนื้อหามีว่า...
“ด้วยกลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ได้รับเรื่องร้องเรียนเป็นหนังสือ (กคจ.สบท. รับที่ 786/05.07.60.) กรณีมีการกล่าวอ้างว่า นาย (ไม่ขอเอ่ยนาม) รองอธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งการให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและมิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลใส่ชื่อของตนเป็นผู้จับกุม (ผู้วางแผน ผู้ร่วมวางแผน) และใส่ชื่อเจ้าหน้าที่หน้าห้อง จำนวน 7 คน เป็นผู้ร่วมจับกุม ในแฟ้มคดีที่มีการจับกุมเกิดขึ้นก่อนและภายหลังดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศุลกากร
เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อร้องเรียนดังกล่าว อาศัยอำนาจตามคำสั่งกรมศุลกากร ที่ 182/2560 เรื่องจัดตั้งกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม จึงขอให้ท่านจัดส่งสำเนารายงานการจับกุมของพนักงานศุลกากร (แบบ 306) ทุกแฟ้มคดี รวมถึงของด่านศุลกากรในสังกัดทั้งหมด ที่มีชื่อนาย (ไม่ขอเอ่ยนาม) ในขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศุลกากร พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้าให้กลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ภายใน 7 วัน”
กรณีนี้สะท้อนให้คิดไปไกลได้ไหมว่า... “เงินสินบน” และ “รางวัลนำจับ” นอกจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศชาติแล้ว ยังเป็นมูลเหตุทำลายเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีข้าราชการระดับสูง เกิดความโลภจนลืมคำว่าจริยธรรม ทำให้สงสัยกันต่อไปอีกว่าอาจจะยังมีเอกสารประเภทเดียวกันอีกกี่ร้อยกี่พันฉบับที่ยังไม่เปิดเผยออกมาให้สังคมภายนอกได้รับรู้เรื่องเน่าๆที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม
คำถามสำคัญมีว่า...ประเทศชาติและสังคมได้อะไรจาก พ.ร.บ.กรมศุลกากร เรื่องการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล...คุ้มค่าหรือไม่เข้าท่ากันแน่?
พลิกแฟ้มคดีดังหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาระหว่างค่ายรถยนต์ระดับโลกกับกรมศุลกากรที่มีภาษีมูลค่า 11,000 ล้านบาทเป็นเดิมพัน กรณีนำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาประกอบรถยนต์รุ่นหนึ่งของค่าย ถ้าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จำต้องจ่ายเงินจริง จะตกถึงแผ่นดินไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น ...ประเทศชาติอาจได้ไม่คุ้มเสีย?
สมผล ตระกูลรุ่ง นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายกรมศุลกากร มองว่า สมมติว่ากรมศุลกากรชนะคดี เป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่าเงินค่าปรับที่จะตกถึงแผ่นดินได้ถูกกระจายไปตามสัดส่วนตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี ซึ่งคงตกเป็นของแผ่นดินไม่เท่าไหร่
“ความเสียหายกับประเทศไทยในภาพรวม นอกจากรถยนต์รุ่นดังกล่าว วันนี้ได้หยุดสายการผลิตในประเทศไทยไปแล้ว แต่ยังผลิตรุ่นอื่นๆอยู่ ถ้าสุดท้ายยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตได้ และหากย้ายฐานไปผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน รถรุ่นที่ผลิตได้ในอาเซียนอาจมีการส่งกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยใช้สิทธิลดอัตราอากรเอฟทีเอ ในอัตราศูนย์เปอร์เซ็นต์”
ประเทศไทย...จะไม่ได้อากรจากรถยนต์รุ่นดังกล่าวเลย
สมผล ย้ำว่า นอกจากประเทศไทยจะไม่ได้ค่าภาษีแม้แต่บาทเดียวแล้ว หากบริษัทผู้ผลิตรายนี้ย้ายฐานการผลิตไปจากประเทศไทยทั้งหมด เราก็จะเสียโอกาสในการสร้างงานให้กับประชาชนอย่างมหาศาล ภาครัฐจะขาดรายได้ภาษีบุคคลธรรมดาจากแรงงาน ขาดภาษีรายได้จากธุรกิจ
ที่เสียหายมากที่สุด...คือรายได้จากการจำหน่ายรถที่เคยผลิตในประเทศไทยส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการรายนี้มีกำลังผลิตสูง มีการส่งออกรถยนต์ไปจำหน่ายในต่างประเทศถึงปีละ 300,000 คัน ซึ่งเงินค่าขายรถยนต์จะไม่ได้กลับมาสู่ประเทศไทย จะฉุดจีดีพีประเทศไทยให้ต่ำกว่าปัจจุบันอย่างมาก
ซ้ำยังเกี่ยวโยงไปถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง อาจต้องปิดกิจการนับเป็นหลายร้อยโรงงาน ต้องปลดพนักงานอีกหลายพันครอบครัว กลายเป็นปัญหาใหญ่กระทบเศรษฐกิจประเทศเข้าไปอีก
ศึกช้างชนช้างครานี้...ไม่ใช่แค่ลุ้นผลแพ้ชนะกันในศาลเท่านั้น แต่อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทว่า รัฐบาล คสช. ควรหรือไม่ที่จะปล่อยให้...กรมศุลกากรในแดนสนธยายังมีข้อกังขา... เป็นรอยแผลความเชื่อมั่นในมาตรฐานประเทศไทยบนเวทีการค้าโลกอยู่อย่างนี้.