คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จำนวน 36 คน มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ทำการศึกษาแนวทางปฏิรูปกิจการตำรวจเอาไว้ 3 แนวทาง ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจของ สตช. มี พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม เป็นประธาน ศึกษาการถ่ายโอนภารกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงค่าตอบแทน สวัสดิการ เส้นทางการเจริญเติบโต การปฏิรูปงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย การนำเทคโนโลยีมาใช้
คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่าง สนช.และสปท. มี พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ เป็นประธาน ภารกิจศึกษา การโอนย้าย สตช.ไปอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และให้การบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน ทั้งตำรวจอัยการและศาล
กำหนดเกณฑ์การตั้ง ผบ.ตร.จะต้องเป็นผู้ผ่านงานสอบสวนอย่างน้อย 2 ปี ร่วมรับผิดชอบสำนวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 คดี เสนอขึ้นเงินเดือนให้ตำรวจพอเพียงกับการดำรงชีพ ชั้นประทวนควรมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 13,773 บาท ส่วนชั้นสัญญาบัตรควรมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 26,605 บาท และโอนระบบรักษาความปลอดภัย หรือกล้อง ซีซีทีวี จากทุกหน่วยงานมาอยู่ในการดูแลของตำรวจ
คณะสุดท้าย คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ มีรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปกิจการตำรวจตามรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการปฏิรูปกิจการตำรวจที่มี ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดยุติธรรมเป็นประธาน ซึ่งจะมีการปฏิรูปใน 5 ด้าน คือ การพัฒนาระบบการสอบสวน การพัฒนาระบบงานนิติวิทยาศาสตร์ การพัฒนาอำนาจหน้าที่และภารกิจของตำรวจ การพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลและการพัฒนาระบบค่าตอบแทน
ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเห็นจะเป็นประเด็น โอน สตช. ไปอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม จากที่ผ่านมาเคยอยู่ภายใต้สังกัด กระทรวงมหาดไทย แล้วกลับมาเป็นอิสระอยู่ภายใต้การดูแลของนายกฯ ด้วยเหตุผลเดียวที่ว่าจะได้ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง
...
เหตุผลที่ต้องการให้ สตช. อยู่ภายใต้สังกัด กระทรวงยุติธรรม ก็เพื่อให้งานกระบวนการยุติธรรมได้ประสานสอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อเป็นการถ่วงดุลในการทำงาน
ในจำนวนข้อเสนอปฏิรูปตำรวจมีคณะอนุกรรมการบางชุดเสนอแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่งโดยการ พิจารณาตามลำดับอาวุโส เท่านั้น ยกเลิกชั้นยศ เพิ่มอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สอดคล้องกับภารกิจ ยุบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้นสังกัดของตำรวจแต่ละแผนกให้ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน เช่น ตำรวจป่าไม้ก็ขึ้นอยู่กับกรมป่าไม้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะได้ข้อสรุปสุดท้ายออกมาอย่างไร สตช.จะต้องอยู่ภายใต้สังกัดขององค์กรใด ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า จะไม่มีการแทรกแซง จะไม่มีการซื้อขายตำแหน่งเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่จับเขย่ากันไม่เลิกรา.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th