คนไทยยามนี้ภาครัฐสร้างอะไรขอให้ใช้งานได้จริงเกิดประโยชน์กับประชาชนโดยรวมก็แล้วกัน...!
แต่หลังจาก...กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน หรือพ.พ.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท ก่อสร้างฝายลูกยางกั้นลำน้ำปิงทดแทนฝายเดิมของชาวบ้าน ที่บ้านม่วงฆ้อง ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
เริ่มสร้างปี 2542 เป็นฝายยางกั้นลำน้ำปิง กว้าง 72 เมตร มีแกนคอนกรีตแบ่งครึ่งอยู่กลางน้ำ ความสูงของสันเขื่อนอยู่ที่ 3 เมตร เสร็จปี พ.ศ.2546 วาดฝันโก้หรู...ใช้เก็บกักน้ำในฤดูแล้ง และระบายน้ำไหลหลาก
หลังพิธีเปิดใช้งานโชว์ชาวบ้านครั้งเดียว และรอส่งมอบ สนง.ชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ยังไม่เคยเห็นได้ใช้งานอีกเลย ส่งผลทำให้ชาวเชียงดาวไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่คุยไว้ จนต้องออกมาโวย
เป็นคำยืนยันจาก นายอดิศักดิ์ คุ้มเมือง นักอนุรักษ์และต่อสู้เพื่อคนเชียงดาว บอกว่า เริ่มแรกสร้างฝายแห่งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะต่อต้านได้อย่างไร ได้แต่เฝ้าดูวันพิธีเปิดฝายโชว์ยางขึ้น-ลง
แต่หลังจากนั้นไม่ทราบเหตุใดถึงไม่เปิดใช้งานอีกเลย ไม่ว่าหน้าแล้งหรือหน้าฝนน้ำป่าไหลหลาก
อีกหนึ่งแนวร่วมประสานเสียง นายเสนาะ พรมเมือง อดีตกำนัน ต.เชียงดาว บอกว่า ตอนแรกก็ดีใจเมื่อ จนท.ชูประเด็น ฝายยางจะช่วยให้ชาวเชียงดาวอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำและยังช่วยเอื้อแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่
ขอยืนยันอีกคน...เปิดเพียงครั้งเดียวแล้วไม่เห็นอีกเลย จึงสร้างความงุนงงให้ชาวบ้านมาจนถึงบัดนี้
ด้านสำนักงานชลประมาณที่ 1 ที่ถูกระบุเป็นหน่วยรับมอบฝายยางไปดูแล นายจารุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผอ.สำนักฯ เผยว่า ไม่ได้รู้เห็นกับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น และยังให้ความเห็นคัดค้านสร้างแล้วไม่คุ้มค่า
เพราะฝายเดิมชาวบ้านยังดีอยู่ ที่สำคัญหากรับมาดูแลต้องใช้งบหลายร้อยล้านบาท ซ่อมแซมฝายยางที่อาจเสื่อมสภาพเพราะถูกทิ้งร้าง และยังต้องเจาะดอยนำน้ำเข้าไปเติม ทำไปก็ไม่คุ้มค่าจึงปล่อยทิ้งไว้
...
เป็น “อนุสาวรีย์อัปยศ”...เพื่อกระตุกต่อมความล้มเหลวภาครัฐสร้างแล้วทิ้งร้างมาจนถึงบัดนี้....!
ชัยพินธ์ ขัติยะ