รมว.มหาดไทย เตือน 4 จังหวัดอีสาน กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี รับน้ำจากเขื่อนลำปาว เตรียมตั้งคณะกรรมการพิจารณาความช่วยเหลือ เยียวยาตามกฎหมาย ส่วนน้ำท่วมสกลนครเริ่มคลี่คลาย

วันที่ 1 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า สถานการณ์น้ำท่วม จ.สกลนคร เริ่มคลี่คลาย แต่บางส่วนยังรอน้ำระบายอยู่ เพราะน้ำที่มาจากหนองหาร ระบายได้อย่างจำกัด ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เราได้แจ้งเตือนประชาชน 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ที่จะต้องรับน้ำจากเขื่อนลำปาวให้เตรียมตัวรับน้ำ เนื่องจากต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน เพราะจะมีมวลน้ำไหลเข้าเขื่อนเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ระบายน้ำวันละกว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แจ้งเป็นรายอำเภอและจังหวัด ว่ามีพื้นที่ใดที่ควรเฝ้าระวัง ขณะเดียวกันทางเจ้าหน้าที่ก็เตรียมความพร้อมการช่วยเหลือ

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การเยียวยาผู้ประสบเหตุอุทกภัย ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขณะที่เงินกองทุนที่ประชาชนบริจาคช่วยเหลือจะมีเกณฑ์อย่างไรต้องพิจารณากันอีกที ส่วนเงินกองทุนที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเงินจากรัฐบาลจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันหรือไม่ ตนขอชี้แจงว่าเป็นเงินคนละส่วน ไม่จำเป็นต้องจ่ายตามระเบียบราชการ แต่คิดว่าน่าจะใกล้เคียงกับที่เคยดำเนินการมาแล้วเช่นเดียวกับอุทกภัยที่เกิดในภาคใต้ที่ผ่านมา เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาความช่วยเหลือตามอำเภอและจังหวัด เพื่อพิจารณาตามกฎหมายว่ามีพืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ ประมง เสียหายหรือไม่

ส่วนที่อยู่อาศัยจะพิจารณาตามเกณฑ์ว่าที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหมด หรือเสียหายบางส่วน ซึ่งยังไม่สามารถประเมินความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ได้ เพราะต้องรอการสำรวจอย่างเป็นทางการ

...

ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 10 จังหวัด รวม 90 อำเภอ 497 ตำบล 3,472 หมู่บ้าน แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร ร้อยเอ็ด นครพนม นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที.