ในขณะที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านต้นฉบับของผมวันนี้ ฤทธิ์เดชของพายุดีเปรสชัน “เซินกา” คงจะจางหายไปพอสมควรแล้ว หลังจากที่ทำความเสียหายให้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเรา อย่างหนักหน่วงเมื่อ 3–4 วันก่อน
เกือบทุกจังหวัดเจอกันหมด เพียงแต่มากบ้างน้อยบ้างเท่านั้น ไม่มีจังหวัดไหนจะรอดพ้นไปได้
หนักที่สุดก็คือ จังหวัด สกลนคร ที่หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ พาดหัวไว้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคมว่า “ฤทธิ์เซินกาทำอ่วม...ท่วมเมืองสกลนครจมบาดาล...น้ำถล่มมิดคันรถ...หนักสุดในรอบ 30 ปี”
ครับ! ก็ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อความโชคร้ายของพี่น้องชาวอีสานหลายๆจังหวัด โดยเฉพาะสำหรับพี่น้องชาวจังหวัด สกลนคร ที่โดนหนักกว่าใครๆ
พร้อมกับขอส่งกำลังใจมาช่วยปลอบประโลมอีกแรงหนึ่งในวันนี้ ซึ่งผมหวังว่าปริมาณน้ำคงจะลดลงแล้ว แต่ความทุกข์ยากอื่นๆจะยังคงอยู่ จึงขอให้ส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องจังหวัดสกลนครและทุกจังหวัดที่ประสบเคราะห์โดยเร็วที่สุด
โดยส่วนตัวแล้วผมมีความหลังกับจังหวัดสกลนครอยู่ไม่น้อย เพราะมีโอกาสไปเยือนเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2510 ซึ่งเป็นยุคที่แผ่นดินอีสานยังกรุ่นไปด้วยควันไฟ และเสียงปืนจากการต่อสู้ระหว่างคนไทย ที่แตกต่างกันในด้านความคิดและอุดมการณ์ใน พ.ศ.ดังกล่าว
ยังจำได้ว่าระหว่างนั่งรถผ่านไปตามถนนที่ลัดเลาะเทือกเขาภูพานเข้าสู่ตัวเมืองสกลนครนั้น ผมสวดมนต์ไปตลอด เพราะเป็นถนนที่เปลี่ยวมาก และอยู่ในเขตครอบครองของ “ทหารป่า” หรือ ผกค.ในยุคโน้น
สกลนครเป็นเมืองเล็กๆที่น่ารัก ยุคนั้นยังเป็นห้องแถวไม้เสียส่วนใหญ่ มีอาคารที่เป็นตัวตึกอยู่ไม่กี่แห่ง
ที่ชอบมากก็ตรงที่มีบึงใหญ่ บางครั้งก็เรียกกันว่าทะเลสาบ คือ “หนองหาน” อยู่ข้างเมือง...บรรยากาศรอบๆสวยงามมาก
...
หนองหานเป็นบึงหรือทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากบึงบอระเพ็ด ที่จังหวัดนครสวรรค์ แม้ในช่วงฤดูแล้งที่แล้งจัด หนองหานก็จะยังมีน้ำอยู่เสมอจึงเป็น “อู่น้ำ” สามารถหล่อเลี้ยง ชาวสกลนครได้ตลอดทั้งปี
นอกจากนั้น เวลาฝนตกหรือในช่วงฤดูฝน ก็จะเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่สำหรับรองรับน้ำฝนที่ตกในเขตอำเภอเมืองสกลนคร ทำให้เมืองสกลนครไม่ค่อยเจอปัญหาน้ำท่วม
จนกระทั่งมาเจออิทธิฤทธิ์ของเซินกา ทำให้ฝนตกใหญ่ที่สกลนคร มวลน้ำมากเกินกว่าที่หนองหานจะช่วยรองรับไว้ได้นี่แหละ
ความสูญเสียครั้งใหญ่คิดเป็นเงินนับพันล้าน หนักหนาสาหัสที่สุดในรอบ 30 ปี จึงเกิดขึ้นแก่สกลนคร
หลังจากไปเยือนสกลนคร ในช่วงที่ภาคอีสานยังเป็นสมรภูมิของการต่อสู้ครั้งนั้นแล้ว ผมก็ห่างเหินอีสานไปพักใหญ่ เพราะต้องไปทำงานในด้านอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างจังหวัดมากนัก
จนกระทั่ง พ.ศ.2520 มีโอกาสไปทำงานด้านชนบท ทำให้ต้องกลับไปลุยทุกๆภาคทั่วประเทศไทยเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับความยากความจนของพี่น้องในชนบทไทย ทำให้มีโอกาสกลับไปนอนที่สกลนครอีกหลายครั้ง
มีอยู่ครั้งหนึ่งประมาณปลายปี 2522 แวะไปที่วัดดอยธรรมเจดีย์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ วัดของหลวงปู่ แบน ธนากโร ที่เจ้านายเก่าของผม ดร.เสนาะ อูนากูล มาบวชอยู่ที่นี่ หลังจากลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
จำได้ว่าผมกลับมาเขียนเล่าในคอลัมน์นี้ ส่งผลให้ลูกศิษย์ลูกหาของ ดร.เสนาะทราบว่าท่านไปบวชอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร ตามไปนมัสการสนทนาธรรมกันอีกหลายต่อหลายคน
ครับ! เป็นอีกหนึ่งความทรงจำของผมที่มีต่อจังหวัดสกลนคร และเคยนำมาเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว
ก่อนจบ ผมขอส่งกำลังใจมาเช็ดน้ำตาอีกครั้งนะครับ และขอ ปวารณาตัวล่วงหน้าไว้ว่าหลังน้ำท่วมเมื่อไร จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจสกลนครให้อีกแรงหนึ่ง โดยจะเขียนชวนให้พี่น้องชาวไทยไปเที่ยว สกลนคร ไปค้างสกลนคร เมืองน่าเที่ยวอีกเมืองหนึ่งของอีสานที่โชคร้ายที่สุดในฤดูฝนปีนี้.
“ซูม”