อาจกล่าวได้ว่าภารกิจสำคัญของรัฐบาล คสช.โดยสรุปก็คือการปฏิรูปประเทศการสร้างยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองในชาติ สอดคล้องกับชื่อคณะกรรมการการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เป็นเป้าหมายสำคัญ นอกจากการรักษาความสงบเรียบร้อย
หลังจากที่ยึดอำนาจและบริหารประเทศมากว่า 3 ปี ผลงานด้านการปฏิรูปประเทศและการสร้างความปรองดองก้าวหน้าไปถึงไหน ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสวนดุสิตโพลครั้งล่าสุด กลุ่มตัวอย่าง 71.44% อยากให้บ้านเมืองสงบ ประชาชนรักใคร่สามัคคี และ 73.78% มองว่าการสร้างความปรองดองดำเนินการช้า ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม
การสำรวจความเห็นครั้งนี้ ถามถึงผลงานรัฐบาลด้านความปรองดอง แต่ถ้าถามเรื่องการปฏิรูปประเทศก็น่าจะได้
คำตอบไม่ต่างกัน เพราะว่าแม้รัฐบาล คสช.จะตั้งสภาปฏิรูปประเทศมาแล้วถึง 2 สภา คือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ผลงานส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ
สปช.ได้รับมอบหมายให้ศึกษาและเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศใน 11 ด้านและยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก แต่ถูกเสียงข้างมากของ สปช.คว่ำกลางสภาเป็นผลให้ สปช.สิ้นสภาพไป และมีการจัดตั้ง สปท.เพื่อสานงานปฏิรูปต่อ และปฏิบัติหน้าที่มาเกือบสองปี องค์กรภาคประชาชนสังคมที่ชื่อ “ไอลอว์” เปิดเผยว่า สปท.ใช้เงินจากภาษีประชาชนไปกว่าพันล้านบาท
ภาระและหน้าที่ของ สปท.สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคมนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคนที่ 1 กล่าวสรุปผลงาน สปท.ว่าได้ผลิตแผนปฏิรูป รวมทั้งข้อเสนอและกฎหมายที่จำเป็นกว่า 160 เรื่อง ครอบคลุมทั้ง 11 ด้าน และ สปท.เป็นผู้เสนอให้บัญญัติเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมือง การปกครองไทย 85 ปี
...
แต่กลุ่มไอลอว์วิจารณ์ ว่าข้อเสนอของ สปท.ล้าหลัง ตัวอย่างเช่น ร่างกฎหมายจัดตั้งสภาปฏิรูปสื่อมวลชนที่ถูกองค์กรวิชาชีพสื่อต่อต้าน เพราะเปิดทางให้รัฐบาลแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อ ข้อเสนอบางเรื่องขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือไม่มี
ผลงานการวิจัยสนับสนุนว่าสามารถนำไปปฏิบัติได้ เช่นข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา เรื่องความประพฤติของนักเรียน
น่าสงสัยด้วยว่าในบรรดาข้อเสนอปฏิรูปหลากหลาย ได้เน้นเรื่องการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่ ทำไมรัฐธรรมนูญ 2560 จึงล้าหลัง ถอยหลังกลับไปยึดหลักประชาธิปไตยครึ่งใบตามรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งอาจสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้นแต่ไม่ใช่ขณะนี้ ไม่ทราบว่าเป็นข้อเสนอปฏิรูปจากฝ่ายใด.