วศ.ทบ.เร่งผลิตหน้ากากกันแก๊สพิษจากยางพารา แทนการสั่งซื้อจาก ตปท. เหตุถูกกว่า คาดสิ้นปีผลิต ทดสอบมาตรฐาน นำแจกจ่ายกำลังพล ตามนโยบายนายกฯ 

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.60 พล.ต.วิโรจน์ ศิลาอาสน์ เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก (วศ.ทบ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานต่างๆในกองทัพบก และเชิญ รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เข้าร่วมด้วย เพื่อมาหารือถึงการดำเนินการผลิตหน้ากากป้องกันเคมี-ชีวะ หรือหน้ากากกันแก๊สพิษขึ้นมาใช้เอง แทนการซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้เร่งนำยางพาราในประเทศมาผลิตยุทโธปกรณ์ใช้เอง และในการเยี่ยมชมผลงานวิจัย ซึ่งนำไปจัดแสดงที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา นายกฯยังได้ย้ำเรื่องการผลิตยุทโธปกรณ์ใช้เอง โดยบอกว่าไปทำอะไรกันอยู่ เราทำได้เองและถูกกว่า โดยใช้วัสดุในประเทศ ใช้ยางพาราของเราผลิตและทำเลย โดยให้ของบประมาณกลางผลิตออกมาก่อน ดังนั้น วศ.ทบ.ของบประมาณกลางของรัฐบาลจำนวน 150 ล้านบาท เพื่อดำเนินการผลิตอย่างเร่งด่วน

พล.ต.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกองทัพบกต้องสั่งซื้อหน้ากากป้องกันสารเคมีและแก๊สพิษ เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยจากสารเคมีรั่วไหล จากต่างประเทศในปริมาณมากต่อปี และมีแนวโน้มว่าราคาหน้ากากจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น วศ.ทบ.จึงได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิชาการจากมก.เพื่อดำเนินการผลิตหน้ากากฯ ขึ้นมาใช้เองเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเบื้องต้นจะขอใช้งบฯ กลางของรัฐบาลประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อผลิตหน้ากากฯ จำนวน 50,000 อัน ราคาต่อชิ้นไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งถูกกว่าการไปสั่งซื้อจากต่างประเทศหลายเท่า เช่น สั่งซื้อจากประเทศเกาหลีชิ้นละ 20,000-60,000 บาท หากเปรียบเทียบกับราคาในปัจจุบันที่ต้องใช้เงินภาษีมากถึง 4,000 ล้านบาท

...

พล.ต.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการผลิตหน้ากากฯ จะเป็นขบวนการที่ผลิตในประเทศโดยโรงงานของคนไทย ตั้งแต่การขึ้นรูปหน้ากากฯ และการผลิตชิ้นส่วนไส้กรอง โดยมี วศ.ทบ.เป็นผู้ควบคุมมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับผลงานวิจัยและมาตรฐานหน้ากากฯ ขององค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ และตรงตามความต้องการจริงของกำลังพลในกองทัพบก โดยจะจัดซื้อยางพาราจากชาวสวนยางของไทย เพื่อมาเป็นวัสดุในการผลิตหน้ากากฯ คาดว่า วศ.ทบ.จะเริ่มผลิตหน้ากากฯ และทดสอบจนผ่านมาตรฐานสามารถนำแจกจ่ายให้แก่กำลังพลในกองทัพบกได้ประมาณสิ้นปีนี้ ตามความต้องการของนายกฯ ที่ต้องการให้เร่งดำเนินการ
 
รายงานข่าว แจ้งว่า โครงการทุนวิจัยด้านพัฒนายุทโธปกรณ์ของกองทัพ เป็นความร่วมมือระหว่างทางกองทัพบก และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ.โดยมี รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการด้านเคมี มก. และนายทหารจาก วศ.ทบ. เป็นหัวหน้าโครงการและผู้รับทุน แต่มีข่าวว่าขณะนี้โครงการดังกล่าวอาจจะต้องยุติ เนื่องจากมีนายทหารกลุ่มหนึ่งต้องการแปรงบฯ จากโครงการนี้ เพื่อไปจัดซื้อที่นอนยางจากต่างประเทศ