นายกฯ แจง ปัญหามาก หลายอย่างต้องทำใหม่ แก้ประมงผิด ก.ม.ทำถูก เร่งรัดที่ยังแก้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เผย ตอบ 4 คำถาม ยอด 5 แสนกว่า 10 วัน อยากให้ประเทศสงบ-ได้นักการเมืองมีธรรมาภิบาล

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการปลดธงเหลือง การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการไร้ควบคุม (ไอยูยู) หลังคณะทำงานของสหภาพยุโรป (อียู) มาตรวจสอบและยังไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหา ว่า ไม่ใช่ไม่พอใจ พอใจ เพียงแต่อยากให้เร่งรัดในส่วนที่เราดำเนินการไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า ปัญหามีมากมาย ซึ่งเราดำเนินการมาก็ถือว่าทำได้มากแล้ว โดยต้องทำตามกติกาที่ไอยูยูกำหนด ที่จริงควรทำตั้งนานแล้ว อีกทั้งมีเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการประมงของเรา เราต้องดูแลคนของเราด้วย หลายอย่างต้องมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน

นายกฯ กล่าวว่า หลายอย่างต้องทำใหม่ แม้กระทั่งการวัดขนาดเรือยังต้องวัดใหม่ อีกทั้งการตรวจสอบยอดการลงทะเบียนเรือทั้งหมดว่ามีกี่ลำ เดิมมียอด 2-3 หมื่นลำ ขณะนี้เหลือ 1.8 หมื่นลำ ทุกอย่างมีปัญหาหมด จึงทำให้อาจจะช้าไปบ้าง ซึ่งเราได้ดำเนินไปตามขั้นตอนของเรา และถือว่าเราทำได้เป็นที่นาพอใจในส่วนของพวกเรา แต่ในส่วนกติกาของไอยูยู เขามีมาตรฐานมากำหนด จึงต้องดูเรื่องผลสัมฤทธิ์ แต่เขาไม่ได้ย้อนกลับมาดูปัญหาของเราที่มีผลกระทบหลายด้าน หลายคนทราบดีการที่เราเอากฎหมายมาทำ จะต้องมีผลกระทบกับที่ทำไม่ถูกกฎหมาย ก็มีแรงต่อต้าน ทำให้เราทำงานได้ช้า จึงขอให้ทุกคนกลับเขามาสู่กฎหมายในทุกๆ เรื่อง ไม่เช่นนั้นจะทำอะไรไม่ได้หมด จะเกิดความขัดแย้ง ก็ต้องช่วยกันบ้าง

...

พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้า 4 คำถามถึงประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย สรุปความเห็นในทุก 10 วัน ว่า จนวันนี้มีประชาชนส่งคำตอบมาแล้ว 527,956 คน เท่าไหร่ก็เท่านั้น จังหวัดที่ตอบมาสูงสุดคือ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และจังหวัดที่ตอบต่ำสุดคือ สมุทรสาคร เพชรบุรี แพร่ ซึ่งคำตอบที่สรุปได้ คือ ประชาชนอยากเห็นประเทศชาติเดินหน้าไปได้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ให้เกิดความยั่งยืน ประเทศชาติสงบเรียบร้อย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ส่วนเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของกลไกที่ต้องมีการปฏิรูป เพื่อให้รัฐบาลและนักการเมืองที่มีคุณธรรมเข้ามาสู่การเมือง เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่มีความผิดก็ไม่อยากให้เข้ามาสู่การเลือกตั้งด้วยวิธีการทางกฎหมาย.