เปิดร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อ หนุน ปรองดอง เน้นการเมือง "บริสุทธิ์-ยุติธรรม" ใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหา ย้ำต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติในการขับเคลื่อนประเทศ นายกฯ ขอแจมร่างฯ เน้นตรวจสอบนโยบายพรรคการเมือง จี้บริหารภาครัฐใช้ระบบคุณธรรมโยกย้าย ขรก. ขจัดระบบซื้อ-ขายตำแหน่ง
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด เพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคม โดยมีประชาชน ตัวแทนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองในภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ร่วมทั้งหมด 312 คน ในพื้นที่ จ.ภาคกลาง จังหวัดละ 12 คน 71 พรรค การเมือง 2 กลุ่มการเมือง เช่น นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึง NGOs ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้าร่วมเวทีอย่างคับคั่ง
พล.ท.กู้เกียรติ กล่าวบนเวทีว่า ตนทราบว่าทุกภาคส่วนต้องการให้ประเทศมีความสามัคคี และเดินไปข้างหน้าอย่างสันติ จึงคาดว่าการจัดเวทีครั้งนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ราบรื่น มีบรรยากาศยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย ปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสามัคคีในอนาคต ขณะเดียวกัน เป้าหมายปรองดอง คือ การมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึงข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ซึ่งการเก็บข้อมูลที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน จะส่งผลให้สัญญาประชาคมมีความสมบูรณ์ และเป็นฉันทามติที่สมบูรณ์ เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าไปในอนาคต
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ พล.ต.อภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณาการบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน และ พล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี ผู้แทนคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนฯ ที่มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน ได้ร่วมกันกล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการกว่าจะเป็นร่างสัญญาประชาคม โดยเน้นย้ำว่า ร่างสัญญาประชาคมเป็นการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน สำหรับเนื้อหาร่างสัญญาประชาคมแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ บทนำ ความคิดเห็นร่วม และภาคผนวก โดยความคิดเห็นร่วมมี 10 ข้อ ประกอบไปด้วย 1. คนไทยทุกคนพึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องและอยู่ในกรอบกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด ส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสบริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกรัฐสภา
...
2.คนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในชีวิต 3.คนไทยทุกคนพึงยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม 4.คนไทยทุกคนพึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการดูแลคุณภาพชีวิตและสาธาณสุข 6.คนไทยทุกคนพึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฎหมาย สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม 7.คนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่บิดเบือน 8.คนไทยทุกคนพึงตระหนักในการส่งเสริมสังคมให้มีมาตรฐานสากล ตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี 9.คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และ 10.คนไทยทุกคนเรียนรู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้ ร่างสัญญาประชาคม มาจากการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 8 พฤษภาคม โดยนำมาร่วมกับทบทวนการศึกษาวิจัยและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งในวันนี้จะเป็นการแถลงถึงขั้นตอนวิธีการจัดทำและเนื้อหาสาระของร่างสัญญาประชาคม รวมถึงกระบวนการการจัดทำความเห็นร่วมที่ทุกเสียงของประชาชนทั้งข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และประเด็นสำคัญที่มีประโยชน์และมีความสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ในบางเรื่องรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 60%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนั้นยังมีภาคผนวกที่เป็นความเห็นของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 15 ข้อ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกับร่างสัญญาประชาคม เช่น การไม่ใช้อำนาจบริหารเพียงหวังคะแนนเสียงทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ต้องมีกลไกควบคุมให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบต่อการประกาศ โฆษณานโยบายที่ไม่ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน รวมทั้งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตรับผิดชอบต่อประชาชน
"การทุจริตระดับนโยบายจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง เช่น การตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐ นักการเมืองทุกคนต้องยึดถือจริยธรรมและจรรยาบรรณในอาชีพ ภาคการเมืองต้องปรับปรุงกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ระบบการเมืองที่เหมาะสม พร้อมกันนั้นคนไทยต้องมีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน และยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสบริสุทธิ์และยุติธรรม รวมถึงการยอมรับผลการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความชอบธรรม"
นอกจากนั้นเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเน้นในเรื่องการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเสรี ส่งเสริมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นการพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ทั้งนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและยกระดับรายได้ของประชาชนโดยรวม ทั้งนี้การให้ความร่วมมือในการจัดการการทุจริตฉ้อฉลและอำนาจนอกระบบอย่างเด็ดขาด โดยการนำหลักธรรมาภิบาลหรือระบบบริหารจัดการที่ดีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใสและตรวจสอบได้ การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐ เพื่อจูงใจให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในภาครัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงาน ทั้งนี้การบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใช้อำนาจกระทำการโดยมิชอบ ที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้งพิจารณาความดีความชอบ และต้องขจัดการซื้อขายตำแหน่งเรียกรับผลประโยชน์ในทุกโครงการ นอกจากนี้แล้วยังให้มีการกระจายอำนาจให้องค์การการปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการบริหารงานให้ภาครัฐ และให้ประชาชนมีบทบาทในการบริหารงานแบบรวมศูนย์ โดยที่ยึดหลักธรรมาภิบาลและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งให้มีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนของตนเอง รวมทั้งให้ประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม จึงจะเป็นการบริหารชุมชนให้เป็นประชาธิปไตยทั้งนี้ ทั้งนี้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ช่วยกันอนุรักษ์บำรุงรักษาฟื้นฟูและบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องของชุมชนและศาสนา ประชาชนมีคุณภาพของชีวิตที่ดี เท่าเทียมและเป็นธรรม ทั้งในด้านการศึกษาและการสาธารณสุข โดยด้านการศึกษาเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาและมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และได้มาตรฐานสากล ส่วนในด้านสาธารณสุข ประชาชนจะได้รับการบริการอย่างทั่วถึงและมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รวมถึงการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการที่ดีของประชาชน.