ศาลฎีกา พิพากษายืน จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา "พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ" อดีตผู้กำกับการ สภ.โพธิ์แก้ว เสนอสินบน 30 ล้าน ให้อดีตตุลาการ รธน.หวังช่วยเหลือคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2549


วันที่ 14 ก.ค. ศาลอาญา รัชดา นัดฟังคำพิพากษา ศาลฎีกา ในคดีสินบนยุบพรรคไทยรักไทย ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อดีตผู้กำกับการ สภ.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นจำเลยในความผิดฐาน ติดสินบนตุลาการเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย

โดยจำเลยไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่ห้องทำงานศาลฎีกา แล้วเสนอเงิน จำนวน 30 ล้านบาท แก่ ม.ล.ไกรฤกษ์ เพื่อช่วยเหลือคดียุบพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เมื่อถูกจับได้ จำเลยปฏิเสธ อ้างว่า เป็นการล้อเล่นกัน กับ ม.ล.ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นเพื่อนเรียนจบคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

คดีนี้ อัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16–22 ต.ค. 49 จำเลยได้ไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา ที่ห้องทำงานที่ชั้นสาม ศาลฎีกา อาคารเดิม และที่บ้านย่านบึงกุ่ม กทม. แล้วรับว่า จะให้เงินจำนวน 15 ล้านบาท กับ ม.ล.ไกรฤกษ์ เพื่อให้ช่วยเหลือในการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง ขณะที่ จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี อ้างว่า เป็นเพื่อนร่วมรุ่นคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กับ ม.ล.ไกรฤกษ์ จึงไปส่งหนังสือเชิญร่วมงานเลี้ยงรุ่น และการกล่าวถึงสินบนก็เพียงพูดคุยหยอกล้อในฐานะเพื่อนเท่านั้น เพราะขณะนั้นมีข่าวลือเรื่องวิ่งเต้นคดี

ศาลชั้นต้น ก็ได้มีพิพากษา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 57 ว่า โจทก์ มี ม.ล.ไกรฤกษ์ ประจักษ์พยานเบิกความ ซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ขณะที่การกระทำของจำเลย ถือเป็นการเห็นแก่ตัว ทำลายความเชื่อถือและศรัทธาของระบบศาลและตุลาการ ซึ่งถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จึงลงโทษให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานจะให้สินบนตุลาการเพื่อจูงใจกระทำการมิชอบฯ จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า พยานโจทก์ นอกจากโจทก์ มี ม.ล.ไกรฤกษ์ ประจักษ์พยานว่า จำเลยขอเข้าพบมาแสดงความยินดี และพูดคุยว่าจำเลยเป็นหนี้บุญคุณ คุณหญิงอ้อ ถ้ายอมช่วยเหลือจะได้รับเงิน 15 ล้าน และจำเลยขอส่วนแบ่ง 5% แล้วจำเลยยังมาพบที่บ้านอีกอ้างนำบัตรเชิญเลี้ยงรุ่นมาให้ และพูดลอยๆ ว่า 30 ล้านบาท ซึ่งโจทก์ยังมี นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตเลขาธิการประธานศาลฎีกา, นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา และ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ (อดีตประธานศาลฎีกา องคมนตรี ถึงแก่อนิจกรรม) ผู้พิพากษาและอดีตผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสำคัญ เบิกความถึงกรณีที่ ม.ล.ไกรฤกษ์ ได้เล่าเรื่องจำเลยเข้าพบด้วย โดยพยานก็ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันที่จะกุเรื่องปรักปรำจำเลย และขณะนั้น พรรคไทยรักไทย เองก็เป็นรัฐบาล หากปรักปรำก็จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเหมาะสมพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ขณะที่จำเลยก็เคยเป็นตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม การกระทำของจำเลยทำให้เสื่อมเกียรติภูมิตุลาการอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกคลางแคลงใจต่อกระบวนการยุติธรรม จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ แต่ชั้นพิจารณาจำเลยได้ยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง จึงพิพากษาแก้เป็นให้จำคุกจำเลย เป็นเวลา 2 ปี แต่ไม่รอลงอาญา

...

ศาลฎีกา เห็นว่า ฎีกาจำเลยที่กล่าวอ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธน่าสงสัยไม่อาจรับฟังได้นั้น ล้วนแต่เป็นการคัดลอกและตัดตอนจากอุทธรณ์ของจำเลยเกือบทั้งหมด เมื่อผลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนไว้โดยละเอียดแล้ว ขณะที่ฎีกาของจำเลยไม่ได้กล่าวโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ว่า ไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ดังนั้นต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยประการอื่นเกี่ยวกับการกระทำผิดตามฟ้อง ก็ล้วนเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่ได้ให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอลงการลงโทษนั้น เห็นว่า แม้จำเลยมีอายุ 75 ปี และมีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง ต้องพบแพทย์เป็นประจำ และประกอบคุณงามความดีขณะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ราชการ และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเคยเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมาก่อน จำเลยย่อมรู้ดีว่า การเสนอให้เงินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ โดยเฉพาะการเสนอให้เงิน แก่ ม.ล.ไกรฤกษ์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อจูงใจให้ช่วยเหลือการพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นคดีที่สำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชนนั้น จึงนับว่าเป็นความพยายามที่จะบิดเบือนความยุติธรรม และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือ ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันศาล การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุก โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

หลังฟังคำพิพากษาแล้ว ภรรยาและบุตร ก็ได้เข้าสวมกอด พ.ต.อ.ชาญชัย ให้กำลังใจ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำคลองเปรม เพื่อรับโทษ 2 ปี ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกา ต่อไป

โดยวันนี้ พ.ต.อ.ชาญชัย เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมญาติและคนสนิท พร้อมด้วยทนายความ.