(ภาพจาก อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม)

ดร.มาโนช วงศ์สุรีรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เปิดเผยว่า ตามที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมได้ดำเนินโครงการติดตามพฤติกรรมของพะยูนในทะเลตรัง เพื่อการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ด้วยการจับพะยูนติดตั้งสัญญาณดาวเทียมติดตามตัวครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยติดตั้งมาแล้วราวปี 2558 รอบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอีกครั้ง จากความพยายามและความร่วมมือทุกฝ่าย ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.สัตวแพทย์หญิง (สพ.ญ.) ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำฯ ครูดรล์ รัตนทัศนีย์ หัวหน้าสาขาวิชาผลิตสื่อภาพยนตร์ และ dive media ครูสอนดำน้ำ NAUI และเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์พะยูนบ้านฉางหลาง และกลุ่มอนุรักษ์พะยูนบ้านเจ้าไหม ที่สำคัญคือการทำงานเป็นทีมเวิร์กและมาตรฐานการทำงานสูงมาก จากจำนวน 40-50 คน ร่วมกันภายใต้ทฤษฎี “วิ่งผลัด” หมายถึงต้องลดช่องว่างความผิดพลาดให้น้อยที่สุด จึงทำให้งานประสบความสำเร็จ

ดร.มาโนชเผยอีกว่า เมื่อเร็วๆนี้ทีมสำรวจออกทำงานพบพะยูนจำนวน 7 ตัว วางอวน 3 ครั้ง พะยูนหลุดออกจากวงล้อมไปได้ ต่อมาลงพื้นที่บริเวณหาดหยงหลำ เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมอีกครั้ง พบพะยูนจำนวน 4 ตัว โดยครั้งที่ 4 ประสบความสำเร็จทีมงานพบพะยูนเพศผู้ ความยาว 2.5 เมตร ตัวประมาณ 200-250 กิโลกรัม ทีมงานได้ตั้งชื่อว่า “จักรี” จากนั้นทีมสัตวแพทย์จุฬาฯจึงได้เจาะเลือดพะยูนและเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ เพื่อวิเคราะห์มีการเก็บภาพอัตลักษณ์บริเวณหางที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวไว้แล้วรอผลข้อมูลจากดาวเทียมในแต่ละวันต่อไป โดยงานอนุรักษ์พะยูนอย่างเป็นระบบเริ่มขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้เราได้พบเห็นพัฒนาการของพฤติกรรมพะยูนในอีกขั้นหนึ่ง และจะเฝ้าสังเกตเก็บรายละเอียดเพื่อรายงานต่อไป.

...