"แม่ทัพต้น" คาดหวังการพูดคุยด้านเทคนิคของคณะพูดคุยสันติสุขกับตัวแทน BRN ที่มาเลเซียกลางเดือน พ.ค.นี้ จะมีความคืบหน้าไปสู่การลดสถานการณ์ความรุนแรง แก้ปัญหาความไม่สงบ จชต. ขณะที่ "มทน.4" กังวลต่อการที่แนวร่วมใช้เด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อปลุกระดมสร้างความเกลียดชังซึมซับการใช้ความรุนแรงหล่อเลี้ยงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 


เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 67 พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และพล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 ทำหน้าที่ หน.ฝ่ายเทคนิคในคณะพูดคุยสันติสุข ร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ (คพท.) ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหาขัดข้องต่อการขับเคลื่อนงานการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขในระดับพื้นที่  


ตลอดช่วงที่ผ่านมาคณะพูดคุยฯ จัดเวทีสร้างความเข้าใจ ฟังข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ จากประชาชนในหลายพื้นที่ กว่า 80 เวทีทั่ว 3 จชต.และ 4 อำเภอของสงขลา ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของ คพท.หนุนเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบผ่านกระบวนการพูดเพื่อสันติสุข จชต. ที่มีมาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกประสานการพูดคุยกับ BRN โดยการพูดคุยฝ่ายเทคนิคครั้งใหม่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค. ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 

...


ทั้งนี้ พล.ท.ศานติ ได้กล่าวชื่นชมให้กำลังใจ คพท.ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับ ปชช.ในพื้นที่ต่อการทำงานที่ยากลำบากลงพื้นที่พบปะชี้แจงประชาชนให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง คพท.ร่วมขับเคลื่อนการสร้างสันติสุขใน จชต. พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการก่อเหตุร้ายใน จชต.ตลอดช่วง 2 เดือน ที่ผ่านมาขณะมีการพูดคุยสันติสุขกับ BRN ที่มาเลเซีย อาจมีสาเหตุจากความเห็นต่างของฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารใน BRN ซึ่งบางฝ่ายอาจไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยแก้ปัญหาขัดแย้ง พร้อมคาดหวังการพูดคุยกลางเดือน พ.ค.นี้ จะมีความคืบหน้าในรายละเอียดเดินหน้าไปสู่การสร้างสันติสุขถาวรในจชต.


ด้าน พล.ท.ปราโมทย์ ตัวแทนกองทัพ หน.ฝ่ายเทคนิคในคณะพูดคุยฯ ที่มี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาฯ สมช. เป็น หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ได้รายงานที่ประชุมผลการหารือของฝ่ายเทคนิคครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27-30 เมษายน 2567 พิจารณาตั้งผู้สังเกตการณ์ 2 คนจากอาเชี่ยน ที่ไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาลหรือ NGO ซึ่งทั้งสองฝ่ายให้ความเห็นชอบร่วมกัน มาร่วมสังเกตการณ์การพูดคุย และจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Work Shop)กับ BRN เป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2567 นี้  โดยจะหารือในรายละเอียดของ TOR วางแนวทางปฏิบัติในการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเพื่อลดเหตุความรุนแรง และการปรึกษาหารือสาธารณะในพื้นที่ เปิดเวทีพูดคุยหาทางออกจากความขัดแย้ง คาดใช้เวลาในสองช่วงดังกล่าว 6-9 เดือน หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขถาวรในพื้นที่


พล.ท.ปราโมทย์ ในฐานะ ผอ.ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน.ซึ่งรับผิดชอบงานการเมืองและงานมวลชนของกองทัพกล่าวแสดงความกังวลต่อการเคลื่อนไหวปลุกระดมของแนวร่วมฯในพื้นที่ตลอดช่วงที่ผ่านมานำเด็กเล็กเยาวชนในโรงเรียนตาดีกา เป็นโรงเรียนสอนศาสนาให้เด็กเล็กในชุมชน เข้าสู่กระบวนการซึมซับสร้างความเกลียดชังใช้ความรุนแรง 

...


"เมื่อเยาวชนเหล่านี้ซึ่งซึมซับอยู่ในวัฏจักรของความรุนแรงมาตลอด โตขึ้นมาจะรู้สึกอย่างไร  ไม่ต่างจากผู้ก่อเหตุรุนแรงหลายคนที่มีอายุ 20 ต้นๆ ยังไม่ถึง 30 ย้อนกลับไปเมื่อปี 47 เด็กเหล่านี้อายุแค่ 4-5 ปี  ในกระบวนการซึมซับสร้างความเกลียดชังใช้ความรุนแรง ทำให้เด็กเหล่านี้ติดเชื้อสุดท้ายนำไปสู่ความสูญเสียของสังคม" มทน.4 กล่าว พร้อมได้เรียกร้องให้คณะพุดคุยฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคมในหลากหลายกลุ่มอาชีพต้องเข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมหยุดยั้งวัฏจักรการใช้ความรุนแรงของกลุ่มก่อเหตุความไม่สงบที่มีเป้าหมายปลุกระดมสร้างความแตกแยกของคนในสังคม และเห็นว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก 

...


"ต้องอยู่ภายใต้ความถูกต้องตามกฎหมาย แต่การอ้างสิทธิเสรีภาพและมีปัจจัยอย่างอื่นสอดแทรก เป็นสิ่งที่น่าห่วง หากไม่มีมาตรการในการดำเนินการอนาคตจะบานปลายไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่น่ากังวล" พล.ท.ปราโมทย์กล่าว