ปัญหาที่ยังคงวนเวียนซ้ำซาก “เหตุโรงงานผลิตพลุ และดอกไม้ไฟระเบิด” ที่เกิดถี่รุนแรงมักนำมาซึ่ง “โศกนาฏกรรมความสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน” สร้างความวิตกกังวลให้ประชาชนอาศัยใกล้เคียงโรงงานผลิต–โกดังจัดเก็บต่างต้องอยู่อย่างผวานอนฝันร้ายกันทุกคืน

ด้วยเหตุการณ์ล่าสุด “โกดังเก็บพลุ อ.สุไหงโก–ลก จ.นราธิวาส” ที่เกิดการระเบิดอานุภาพก่อให้บ้านเรือนในรัศมี 500 เมตรเสียหายไปกว่า 100 หลัง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 114 ราย เสียชีวิต 12 ราย สาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากการเชื่อมเหล็กต่อเติมในโกดังแล้วเปลวไฟไปติดกล่องเก็บดอกไม้ไฟ จนเกิดการระเบิดขึ้นตามที่เป็นข่าวนั้น

แต่เหตุลักษณะนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกในวันที่ 24 ก.ค.2566 “โรงงานผลิตพลุระเบิด ใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่” ชาวบ้านรับรู้ถึงแรงสะเทือนมองเห็นควันไฟพวยพุ่งขึ้นท้องฟ้าในระยะไกลส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 9 ราย หญิงชราอายุ 87 ปีเสียชีวิต 1 ราย บ้านพัง 5 หลัง ในจำนวนนี้พังราบเลย 3 หลัง และมีรถยนต์ รถจักรยานยนต์อีกเพียบ

นับเป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรงในรอบปีอันเกิดจากสาเหตุใดนั้น ผศ.ดร.วิภู ศรีสืบสาย คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อมูลว่า

...

ทุกครั้งในช่วงสิ้นปี “มักมีการจัดเตรียมงานเฉลิมฉลองกิจกรรมพิเศษ” ที่นิยมเล่นดอกไม้ไฟ หรือจุดพลุกันอย่างแพร่หลายส่งผลให้ช่วงนี้ “ผู้ประกอบการ” ต่างพากันเร่งผลิตพลุ-ดอกไม้ไฟ และนำเข้าจากต่างประเทศมาจัดเก็บไว้ในคลังเตรียมส่งขายให้ลูกค้ากันเป็นจำนวนมาก

ส่วนสาเหตุโรงงานผลิต-โกดังเก็บพลุระเบิดมีปัจจัยจาก “ผู้ประกอบการละเลย” ไม่ว่าจะเป็นการหละหลวมการตรวจสอบอุปกรณ์ควบคุมจัดการความปลอดภัยในโรงงาน สายไฟฟ้าใช้งานไม่ได้มาตรฐาน ชำรุด และไม่มีการซ่อมแซมบำรุงส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจร “เกิดประกายไฟ” แถมละเลยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันระงับอัคคีภัยอีก

ในบางกรณีก็เกิดจาก “ผู้ผลิตประมาทเผอเรอ” มักง่ายสูบบุหรี่ใกล้โรงงานจนเกิดไฟไหม้ขึ้น สิ่งนี้ล้วนเอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุโรงงานพลุระเบิด รุนแรง และตามมาด้วยการรั่วซึมของสารเคมีที่เป็นอันตรายมากมาย

จริงๆแล้ว “โรงงานผลิตพลุนั้นมีกฎหมายควบคุมหลายฉบับ” เช่นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยการดำเนินงานฉบับที่ 3 พ.ศ.2542 ฉบับที่ 4 พ.ศ.2552 ระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรมหลักเกณฑ์ชี้บ่งอันตราย ประเมินความเสี่ยง การจัดทําแผนบริหารจัดการความเสี่ยง พ.ศ.2543

ทั้งยังมีประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ควบคุม การกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบใช้ผลิต พ.ศ.2547 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการป้องกันระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552

ถัดมาเป็นกฎกระทรวงกำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน พ.ศ.2550 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการเปิดโรงงานผลิตพลุไม่ใช่เรื่องง่ายต้องทำให้ครบระเบียบหลายเรื่อง “เน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ” เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด ในการลดการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

ปัญหามีอยู่ว่าในช่วงของการขอใบอนุญาตเปิดโรงงานนั้น “ผู้ประกอบการ” มักทำตามระเบียบข้อบังคับกันดีเสมอ แต่พอผ่านไประยะหนึ่งมักมีพฤติกรรมหละหลวมแล้วหนำซ้ำ “ภาครัฐ” ก็ไม่ติดตามว่าโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายเพียงใดอาจเป็นเพราะ “บุคลากรไม่เพียงพอ” จนไม่ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบหรือไม่

ตามปกติโรงงานเหล่านี้จะมีระบบตรวจสอบความปลอดภัยจากองค์กรภายนอกประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ หรือต้องมี จนท.ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค เมื่อภาครัฐไม่ติดตามตรวจสอบย่อมกลายเป็นช่องโหว่โรงงานเล็กๆไม่ทำกัน เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายสูงจนเป็นเหตุให้โรงงานผลิตพลุระเบิดบ่อยๆ

...

ในการเกิดเหตุแต่ละครั้ง “มักก่อความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินมหาศาล” ทั้งยังกระทบต่อชุมชนใกล้เคียงอย่างกรณีโกดังเก็บพลุ อ.สุไหงโก-ลก และโรงงานผลิตพลุ อ.ดอยสะเก็ด ระเบิด ดังนั้นภาครัฐต้องเข้าไปควบคุมให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นอุบัติเหตุโรงงานผลิตพลุจะระเบิดเกิดขึ้นซ้ำซากอีกแน่ๆ

ประการถัดมา “สถานประกอบการ หรือโรงงานผลิต” เรื่องนี้หลายคนเกิดข้อสงสัยกันมากว่า “โรงงานมักตั้งใกล้ชุมชน” จริงๆแล้วหากย้อนดูกฎหมายผังเมืองจะกำหนดแบ่งโซนการใช้ทำประโยชน์ที่ดินชัดเจน

อย่างเช่น “สีเขียว” เป็นที่ดินชนบทและเกษตรกรรม “สีเหลือง” เป็นแหล่งอาศัยหนาแน่นน้อย “สีส้ม” เป็นแหล่งอาศัยหนาแน่นปานกลาง “สีน้ำตาล” ที่ดินอาศัยหนาแน่นสูง “สีม่วง” ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม แล้วตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 กำหนดให้พลุ และดอกไม้ไฟ เป็นวัตถุอันตราย เพราะมีดินปืนเป็นส่วนประกอบ

ในการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตพลุและโกดังจัดเก็บ จึงต้องมีการกำหนดให้ออกห่างไกลชุมชนอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเวลาผ่านไปชุมชนขยายเร็วอาจขยับเข้าไปใกล้โรงงานผลิตพลุกันเอง

...

เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาเสี่ยงอันตรายให้แก่ “ชุมชนอาศัยใกล้โรงงาน” อย่างเช่นบางพื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ ระยอง นครปฐม ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี พิจิตร เชียงใหม่ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยอาจต้องย้ายโรงงานออกไปจากชุมชน แต่ว่าภาครัฐก็ควรต้องมีมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมด้วย

โดยเฉพาะ “ภาคเหนือ” ที่เป็นแหล่งมีโปแตสเซียมไนเตรตสะสมอยู่ตามธรรมชาติสูง ทั้งยังเป็นพื้นที่ใช้โปแตสเซียมคลอเรตสำหรับในสวนลำไย เพื่อเป็นการเร่งดอก และผลผลิตออกนอกฤดูกันเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นแล้ว “เมื่อโปแตสเซียมไนเตรต และโปแตสเซียมคลอเรต” เป็นวัตถุดิบส่วนประกอบสารตั้งต้นนำมาผสมกับกำมะถัน และสารเคมีใช้เป็นตัวให้เกิดพลุมีประกายไฟสี “อันมีมากในภาคเหนือ” ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนต่างพากันมาตั้งโรงงานผลิตพลุกระจุกอยู่พื้นที่นี้ เพื่อความสะดวกง่ายต่อการจัดหาวัตถุดิบ

ทว่าหากเปรียบเทียบกับ “โรงงานผลิตพลุในต่างประเทศ” ที่ค่อนข้างดำเนินกิจการเป็นมาตรฐาน “เน้นความปลอดภัย” โดยเฉพาะการป้องกัน ไฟไหม้ที่มีการติดตั้งเครื่องมือที่ช่วยป้องกัน ทั้งเครื่องดับเพลิง หัวกระจายน้ำ และระบบตรวจจับอัคคีภัยอัตโนมัติ รวมถึงยังมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้า และบำรุงรักษาตามมาตรฐานอยู่ตลอด

...

หากพบข้อบกพร่องจะทำการแก้ไขทันที เพราะไม่อย่างนั้นระบบไฟฟ้าปล่อยให้เสียหายอาจเป็นตัวการก่อไฟไหม้ขึ้นได้ แล้วยิ่งกว่านั้น “ภายในโรงงาน” ถูกออกแบบแบ่งโซนชัดเจน เช่น ห้องผสมสารเคมีที่แยกออกจากห้องการประกอบพลุ ห้องบรรจุหีบห่อ และห้องจัดเก็บพลุ เพื่อจำกัดพื้นที่กรณีเกิดไฟไหม้ไม่ให้ลุกลามไปห้องอื่นได้

แตกต่างจาก “โรงงานผลิตพลุในไทย” กระบวนการผลิตค่อนข้างกระจัดกระจาย “ทุกขั้นตอนการผลิตถูกนำมาทำรวมกันภายในห้องเดียว” เมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้มักก่อให้เกิดความเสียหายทั้งโรงงาน ดังนั้น ตอนนี้ใกล้เข้าสู่เทศกาลประจำปี “โรงงานผลิตพลุ และดอกไม้ไฟ” ต่างกำลังเริ่มเร่งการผลิตพลุมากขึ้น

ฉะนั้นการป้องกันดีที่สุดคือ “โรงงานผลิต” ต้องหมั่นตรวจสอบระบบไฟฟ้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้พร้อมใช้งานตลอด “หน่วยงานภาครัฐ” จำเป็นต้องตรวจสอบทุกพื้นที่ที่ขออนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับการครอบครอง จำหน่ายพลุ และดอกไม้ไฟ เพื่อลดโอกาสเกิดเหตุสะเทือนขวัญอีก

อย่าลืมว่าหลักการเกิดปฏิกิริยาเคมีของพลุไฟนั้น “เมื่อจุดไฟชนวนพลุลุกไหม้ไปดินปืน” โดยโปแตสเซียมไนเตรตในดินปืนรับความร้อนจะปลดปล่อยออกซิเจน ไฟติดเกิดการเผาไหม้ และแรงปะทุส่งให้ไส้พลุพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วไม่เท่านั้นแม้อยู่ในสภาพแวดล้อมอุณหภูมิร้อนจัดก็สามารถเกิดประกายไฟขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

ย้ำว่า “สารเคมีประกอบพลุ–ดอกไม้ไฟ” ติดไฟง่ายสามารถก่อให้เกิดการระเบิดอานุภาพทำลายล้างสูง “การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” มักเป็นหนทางนำไปสู่การออกมาตรการกำกับ ควบคุม และการป้องกันเหตุร้ายซ้ำซากนี้ให้ลดลงได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม