ชาวบ้านร้องให้จังหวัดปัตตานีเข้ามาดูแลพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี มูลค่า 20 ล้านถูกทิ้งกว่า 10 ปี โอดเสียดายงบประมาณ ปืนใหญ่พญาตานีจำลองรับปากชาวบ้านจะซ่อมก็หาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 ก.พ. 2566 พื้นที่ตำบลตันหยงลุโละ (หมายถึงแหลมที่เต็มไปด้วยเพชรพลอยและสิ่งมีค่า) อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองประวัติศาสตร์ ที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีตกาล เคยเป็นเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรปาตานี และของเอเชียอาคเนย์ ที่คนทั่วไปได้เคยมาติดต่อค้าขาย ประกอบด้วย จีน ฮอลันดา โปรตุเกส ญี่ปุ่น และในแถบอาหรับ รวมทั้งเป็นอารยธรรมอิสลาม เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในสมัยนั้น แต่จากเหตุการณ์ปี 2547 ที่เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ ทำให้ส่งผลกระทบไม่มีนักท่องเที่ยวมาชม ร้านค้าร้านขายของที่ระลึกต่างๆ พากันปิดร้านจำหน่าย

ทางจังหวัดปัตตานี ต้องการฟื้นฟู เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จึงได้ทุ่มงบประมาณ 20 ล้านบาทสร้างศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี (พิพิธภัณฑ์) (Pattani Civilization Tourism Learning Center) บริเวณหน้ามัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลู่โล๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานีเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเปรียบเสมือนเป็น “แลนด์มาร์ก” ประจำจังหวัดปัตตานีแห่งใหม่ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชนจังหวัดปัตตานี และเปิดศูนย์ฯดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556

...

การจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวอารยธรรมปัตตานี โดยใช้อาคารอเนกประสงค์โบราณสถานมัสยิดกรือเซะ มาปรับปรุงใหม่มี (จำนวน 4 ห้อง คือ ห้องบรรยายสรุป ห้องชุมชนท่องเที่ยวปัตตานี ห้องพหุวัฒนธรรม และห้องอารยธรรมปัตตานี) ภายในมีทั้งรูปภาพ รูปปั้น ที่เล่าเรื่องราวจากอดีตถึงปัจจุบัน ผ่านวีดิทัศน์และภาพเขียนสีน้ำมัน ทั้งศาสนาประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต ผ่านโมเดลรูปแบบต่างๆ อาหารการกิน และมีเสียงเทปบรรยาย นอกจากนั้น ในพื้นที่ใกล้เคียง มีอาคารจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว สัมผัสอาหารคาวหวานเอกลักษณ์ท้องถิ่นปัตตานี และความเป็นกันเองของชาวชุมชนท่องเที่ยว

หลังจากที่เปิดศูนย์แล้ว มีนักท่องเที่ยว เด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน มาติดต่อเข้าชมเป็นจำนวนมาก และมีการขายของที่ระลึก ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แต่ปัจจุบันถูกปิดตาย ไม่สามารถเข้าไปชมได้ มีสภาพสกปรก รก ส่วนสภาพอาคารเริ่มทรุดโทรม อาคารเริ่มผุ หลังคาแตกรั่ว สายไฟฟ้า ถูกคนขโมย ทำให้กลายเป็นอาคารร้างในปัจจุบัน

ส่วนลานอีกด้านหนึ่ง ที่เป็นอาคารจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ถูกปิดตาย และอาคารทรุดโทรม นอกจากนั้นปืนใหญ่พญาตานี จำลอง ที่สร้างขึ้นมาติดตั้งไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพ ปรากฏว่ามีแต่ฐานที่ตั้งปืนพญาตานี ส่วนปืนใหญ่พญาตานีจำลองไม่มี หลังจากที่ถูกคนร้ายวางระเบิดเสียหาย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ทางจังหวัดได้นำไปซ่อม และรับปากชาวบ้านว่า หลังซ่อมจะนำไปติดตั้งในวันที่ 3 ธ.ค. 2556 แต่จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านไม่เคยเห็นปืนพญาตานีจำลองอีกเลย

จากสภาพดังกล่าว ทำให้ประชาชนต่างโอดครวญว่า ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาษีของพี่น้องประชาชน แต่สร้างเสร็จทิ้งปล่อยไว้ให้รกร้าง ทางจังหวัดไม่ได้สนใจที่จะมาฟื้นฟูอาคารดังกล่าว โดยอ้างว่า มอบให้หน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบดูแล ทำให้บรรยากาศกลับมาเงียบเหงาเหมือนเดิม พ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหาร และของที่ระลึก ก็ขายไม่ได้ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมาชม จากปัญหาดังกล่าว ประชาชนปัตตานี จึงขอให้ ทางจังหวัด มาดูแล อย่าปล่อยไปวันๆ เสียดายงบประมาณที่ทำไปแล้ว

...

นายอีลียะห์ ลาเตะ นายก อบต.ตันหยงลุโละ เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑ์ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มาจากงบประมาณของท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี นำงบหลวงมาก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ และอาคารจำหน่ายสินค้า OTOP โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 20 ล้านบาท ปัจจุบันได้ปล่อยให้รกร้างนานนับ 10 ปี ทราบว่ามีปัญหาเรื่องติดค่าน้ำค่าไฟ ค่าจัดการ ค่าบำรุงซ่อม ทางจังหวัดไม่มีงบ ตนเคยได้ไปของบจากจังหวัด เพื่อมาทำการซ่อมแซม แต่ทางจังหวัดไม่มีงบให้ ก่อนหน้านี้อาคารดังกล่าวเป็นของท่องเที่ยวจังหวัด ตนได้ไปขอเพื่อทำการซ่อมแซมใหม่ แต่ติดปัญหาท่องเที่ยวจังหวัดยังไม่ขึ้นทะเบียนให้แก่ ธนารักษ์ ทำให้ติดปัญหา และยังทำอะไรไม่ได้ และหาได้คืนมาแล้ว ก็ยังคงมีปัญหาอีก เพราะทาง อบต.ก็ไม่มีงบประมาณที่จะซ่อมแซมเพื่อเปิดทำการใหม่

นายก อบต.ตันหยงลุโละ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าได้กลับคืนมา แน่นอนตนจะทำเพื่อประโยชน์ของชุมชน ให้ชุมชนมีรายได้ โดยจะมีศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ และมีการเปิดรถราง และนำรถพ่วงข้าง เพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้าไปชมแหล่งท่องเที่ยวในตำบลตันหยงลูโละ เพราะที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างจังหวัด และต่างประเทศ รถจากรถแล้วถ่ายรูปกับมัสยิดกรือแซะ และเดินทางกลับ ตนเสียดายพื้นที่มาก เพราะตำบลตันหยงลุโละมีอะไรดีมากมาย วอนให้หน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดเข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้ และอาคารจำหน่ายสินค้า OTOP ให้ฟื้นกลับมาเหมือนเดิม เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว เพราะมัสยิดกรือเซะ เป็นรู้จักกันทั่วโลก นักท่องเที่ยวก็อยากจะมาดู แต่สภาพตอนนี้ดูไม่ได้ หากปล่อยไว้ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร.

...