"เฉลิมชัย" เปิดงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 28 พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งเสริมการทำการเกษตรมูลค่าสูง สร้างความมั่นคงและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 65 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-21 ส.ค. 65 ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคณะทรัพยากรฯ จัดเป็นประจำทุกปีเพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ เป็นเวทีซื้อขายสินค้าและผลผลิตการเกษตร รวมถึงเป็นเวทีให้นักศึกษาพัฒนากระบวนการทำงานด้วยการปฏิบัติงานจริง และเป็นงานประจำปีที่สำคัญของ จ.สงขลาและภาคใต้ โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าชมงานประมาณ 5 แสนคน มีเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรและชุมชน

สำหรับปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าร่วมจัดงานในหัวข้อ "เกษตรยุคโควิด พลิกวิกฤตสู่ความยั่งยืน" เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทของภาคการเกษตรในทุกศาสตร์ที่เป็นรากฐานสำคัญในการนำประเทศให้ก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติโดยอาศัยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ผสมผสานวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสมดุล และสามารถสร้างมูลค่าแก่ภาคการผลิตทางการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การฝึกอบรม ประชุมสัมมนาวิชาการ นิทรรศการด้านการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ประกวดแข่งขัน สาธิต ให้บริการวิชาการ การแสดงและจำหน่ายสินค้าและผลผลิตเกษตรเครื่องจักรกลการเกษตรและสินค้าอื่นๆ รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการนำนักเรียนเข้าชมงานโดยนักศึกษาของคณะฯ ซึ่งทุกกิจกรรมมีนักศึกษาเป็นส่วนหลักในการดำเนินการ ทั้งนี้ การจัดงานเกษตรภาคใต้ ได้ช่วยพัฒนาความเข้มแข็งทางด้านการตลาดสินค้าเกษตร พัฒนาสุขอนามัยของอาหาร โดยผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารในงานต้องผ่านการอบรมด้านหลักสุขาภิบาลอาหารโดยการสนับสนุนและร่วมมือจากสาธารณสุขจังหวัดสงขลา รวมทั้งการติดตามประเมินผล การมอบรางวัล และการชี้แนะปรับปรุงเพื่อยกระดับการประกอบการให้ดีขึ้น
...

"วันนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ สถาบันการศึกษา และเกษตรกร ต้องร่วมพัฒนาเกษตรกรให้รู้จักเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และใช้งานวิจัยมาเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ หรือเพิ่มมูลค่า จนเกิดเป็นเกษตรมูลค่าสูงและเกษตรกรรมยั่งยืน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคโควิด-19 คือ เกษตรกรกลายเป็นพ่อค้าเต็มตัว สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รู้จักตลาดจากนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรฯ รู้ว่าตลาดต้องการสินค้าประเภทไหน และจะผลิตแบบไหนเพื่อรองรับความต้องการและไม่ให้ล้นตลาด รวมถึงปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่การปลูกพืชแบบผสมผสาน ทำให้สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น และสำหรับพื้นที่ภาคใต้ มีความได้เปรียบทางด้านภูมิประเทศ โดยเฉพาะเรื่องปาล์มและยางพารา แต่เราต้องการให้ภาคการเกษตรมีทางเลือกมากขึ้น จึงมีการสนับสนุนการปลูกพืชผสมผสาน เช่น พริกไทย โกโก้ กาแฟ หรือการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้"นายเฉลิมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาได้ผลิตบุคลากรด้านการเกษตร ที่มีความรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม และนำงานวิจัย เพื่อเข้ามาทำงานในภาคการเกษตรมากขึ้น และในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ เองก็สนับสนุน Young Smart Farmer ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเกษตรมูลค่าสูง หรือเกษตร 4.0 ต่อไป ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มีการตั้งศูนย์ AIC ขึ้นทั่วประเทศ โดยได้รับการความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาทั้ง 77 จังหวัด มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยให้เกษตรกรรับทราบและเข้าถึงเทคโนโลยีได้" นายเฉลิมชัย กล่าว.