ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี ดึงเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ หวังลดต้นทุน ผนึกกำลังเพิ่มผลผลิตออกขาย สร้างรายได้ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 65 นายวีระวุฒิ อัครธราดล ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ต.เลม็ด ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 5 ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ภายใต้ชื่อ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว (นาแปลงใหญ่หลักเกณฑ์ใหม่) เมื่อปี 2560 มีสมาชิก 52 ราย พื้นที่ทั้งหมด 538 ไร่ 2 งาน 94 ตร.ว. ความเข้มแข็งจากการรวมกลุ่มทำให้ได้รับการพัฒนาต่อยอดด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สำหรับโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ กรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี มีภารกิจในการดำเนินการส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรที่ทำนาแปลงใหญ่ ที่ผ่านมา มีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 4 แปลง เป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2564

นายสันติภาพ ทองอุ่น หัวหน้ากลุ่มถ่ายทอดวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ปี 2560 ให้เกษตรกรรวมกลุ่มตั้งแต่ 30 คนขึ้นไปและมีพื้นที่ตั้งแต่ 300 ไร่ ขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เป็นผืนเดียว แต่ให้เป็นพื้นที่ใกล้เคียงอยู่ในชุมชนเดียวกัน รวมกันตั้งกลุ่มและบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วย เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในภาพรวม ซึ่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการ โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เริ่มตั้งแต่ ปี 2560 2 แปลงด้วยกัน คือ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว (นาแปลงใหญ่หลักเกณฑ์ใหม่) หมู่ 5 ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนา ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร และปี 2563 อีก 2 แปลง คือ กลุ่มนาแปลงใหญ่ท่ากระดานบางงอน ต.ท่ากระดาน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี และกลุ่มส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ ต.หาดพันไกร อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร
...

นายสุธรรม ทองแช่ม ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เมื่อก่อน ต.เลม็ด มีการทำนาแบบต่างคนต่างทำ พอกรมการข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาให้ความรู้ จนเกิดการรวมกลุ่มทำเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ให้เมล็ดพันธุ์มาปลูก เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป อีกทั้งศูนย์ฯ ยังส่งเสริมพัฒนายกระดับการผลิตข้าวของกลุ่มเป็นข้าวที่ผ่านมาตรฐาน GAP ทำให้สามารถจำหน่ายให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวฯ ได้ จากที่เคยขายข้าวให้โรงสีราคาตันละ 7,000 บาท ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งศูนย์ฯ ราคาดีขึ้นอยู่ที่ตันละ 12,000-14,000 บาท ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นเพราะปลูกด้วยวิธีการปักดำ ต้นทุนก็น้อยลงใช้ปุ๋ยน้อยลง ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยลง ผลผลิตดีขึ้น ขายราคาดีขึ้น ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้เรายังรวบรวมผลผลิตข้าวที่เหลือจากการผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์นำมาแปรรูปเป็นข้าวคุณภาพเพื่อสุขภาพ ผลิตและจัดจำหน่ายเอง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าว เพิ่มรายได้ให้สมาชิกอีกหนึ่งช่องทาง เกษตรกรสมาชิกไม่ต้องกังวลเรื่องจะไม่มีตลาดรับซื้ออีกเลย.
