กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกว่า 2,160 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.เบตง และ อ.ธารโต จ.ยะลา เกษตรกรนิยมปลูกผสมผสานกับพืชชนิดอื่นหรือตามพื้นที่ว่าง

ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมอาชีพการปลูกกาแฟให้กับเกษตรกรอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

ล่าสุดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และฝ่ายธุรกิจ คาเฟ่อเมซอน บริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บูรณาการขับเคลื่อนพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟโรบัสต้าอย่างครบวงจร

เพื่อสร้างอัตลักษณ์กาแฟโรบัสต้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและมั่นคง ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริ

ที่ผ่านมา ศอ.บต.ได้จัดเก็บข้อมูลของเกษตรกรที่สนใจและมีพื้นที่ปลูกกาแฟที่เหมาะสมใน 3 อำเภอ คือเบตง และธารโต จ.ยะลา และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตลอดจนจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผ่านหลักสูตร “จัดการกาแฟ โรบัสต้า”

มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก Amazon เกษตรกรต้นแบบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

อีกทั้งยังคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้าพันธุ์พื้นเมืองที่เหมาะสมกับพื้นที่ สำรวจผลผลิตที่มีผลดก ก้านยาว ข้อถี่ เมล็ดใหญ่ เปลือกบางแต่ละข้อมีผลสุกพร้อมกัน สู่การนำร่อง 1 พื้นที่กาแฟ 1 จุดเรียนรู้ เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่น

นายชัชนนท์ เต็มนา นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา เผยว่า สายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับพื้นที่ชายแดนใต้มากที่สุดคือชุมพร 2 สามารถปลูกร่วมกับสายพันธุ์พื้นเมืองได้ดี มีความพิเศษของกาแฟโรบัสต้าที่มีรสชาติของบราวน์ชูก้า มีความหอมหวานในตัว

...

เป็นจุดเด่นทำให้กาแฟมีความแตกต่าง มีรสชาติเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่.

ธวัช สุวพิชญ์ภูมิ