คดีที่ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริมผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จับกุมผู้ลักลอบผลิตและจําหน่ายเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทำให้ผู้บริโภคเกิดอันตราย
การจับกุมครั้งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบพบการ “โฆษณาเกินจริง” ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ดีเอ็น ออร่า ไวท์ บอดี้ โลชั่น ทางสื่อออนไลน์และอีมาร์เกตเพลสเป็นจํานวนมาก เป็นข้อความที่แสดงสรรพคุณเกินขอบข่ายความเป็นเครื่องสำอางและไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเครื่องสำอางดังกล่าวได้ยกเลิกเลขที่ใบรับจดแจ้งแล้ว อย.ประสาน บช.สอท. เฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องสําอางดังกล่าว และร่วมกันสืบสวนขยายผลผู้ที่เกี่ยวข้อง
รวบรวมหลักฐานนําหมายค้นเข้าตรวจค้นอาคาร บ้านพักใน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา สถานที่ลักลอบผลิตเครื่องสำอางประเภทยี่ห้อดีเอ็น (DN) ยี่ห้อใหม่ (MAI) ยี่ห้อเคที (KT)
ตรวจยึดของกลางผลิตภัณฑ์สําเร็จรูปยี่ห้อ MAI และ DN 460 ชิ้น ยาคีโตโคนาโซล 240 กล่อง บรรจุภัณฑ์เปล่า 10,000 ชิ้น เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ครีมรอบรรจุ และฉลากสติกเกอร์ มูลค่าของกลาง 300,000 บาท
ภญ.สุภัทรา บอกครีมเถื่อนที่ยึดได้ในครั้งนี้มักขายตามร้านค้า ออนไลน์ หรือตามแพลตฟอร์ม โฆษณาอ้างรักษาสิว รอยแผลเป็นฝ้า กระ ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส ผิวดํากรรมพันธุ์ก็ขาวขึ้น เห็นผลภายใน 7 วัน
ที่ผ่านมา อย.เคยตรวจพบสารห้ามใช้ในเครื่องสําอางประเภทนี้ที่มีส่วนผสมของสารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานานอาจทําให้ผิวหน้าดําผิวบางลง
...
ใช้เป็นเวลานานๆจะทำให้เกิดการแพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย ผิวแตกลายถาวร
เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง
โดยเฉพาะหากผู้บริโภคได้รับสารปรอทในปริมาณมาก อาจเกิดพิษสะสม ส่งผลให้ไตอักเสบ
ซึ่งเคยมีผู้แพ้สารปรอทในเครื่องสําอางจนเสียชีวิตมาแล้ว
ภญ.สุภัทรา บอกว่าขอเตือนพี่น้องประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อเครื่องสําอาง อย่าซื้อเพียงเพราะ “หลงเชื่อ” คําโฆษณาของผู้ประกอบการที่เกินจริง
เป็นคำเตือนด้วยความห่วงใยของ อย.ที่เดินหน้าเร่งรัดปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค.
“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th