สถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.ยะลา มีแนวโน้มพุ่งขึ้น วันนี้พบอีก 59 ราย ส่วนหนึ่งจากคลัสเตอร์ศูนย์มัรกัสยะลา ที่ระบาดไป 12 จว.ใต้ ผู้ว่าฯ ออกคำสั่งคุมเข้ม ห้าม นร.เข้า-ออก มัรกัสยะลา และมัรกัสตาเซะ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา รายงานตัวเลขผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ใหม่เพิ่มอีก 59 ราย ที่ อ.เมืองยะลา มีจำนวนสูงสุดถึง 27 ราย อ.กรงปินัง 15 ราย และ อ.บันนังสตา 12 ราย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากคลัสเตอร์โรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์มัรกัสยะลา บ้านเปาะยานิ หมู่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา ที่นักเรียนเดินทางกลับภูมิลำเนาก่อนหน้านั้นโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการคัดกรองหาเชื้อ

นายสุชาติ อนันตะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เผยว่า ขณะนี้คลัสเตอร์มัรกัสยะลามีการแพร่เชื้อโควิด-19 ไปกว่า 12 จังหวัดในภาคใต้ จ.ยะลา 69 ราย, จ.ปัตตานี 14 ราย, จ.นราธิวาส 13 ราย, จ.สงขลา 17 ราย, จ.สตูล 37 ราย, จ.พัทลุง 4 ราย, จ.ตรัง 3 ราย, จ.กระบี่ 14 ราย, จ.สุราษฎร์ธานี 8 ราย, จ.พังงา 5 ราย, จ.ภูเก็ต 3 ราย และ จ.นครศรีธรรมราช 3 ราย รวมจำนวน 190 ราย

ทาง สนง.สาธารณสุขจังหวัดยะลาได้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวให้แจ้งไปยังครอบครัวนักเรียน ให้นักเรียน บุคคลในครอบครัว และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด ได้รีบเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ที่ รพ.สต.สนง.สาธารณสุขอำเภอ หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วน เพื่อป้องกันและสก้ดยังยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ลุกลาม และจะต้องให้ข้อมูลความจริงกับเจ้าหน้าที่ให้มากที่สุด ไม่ปกปิดประวัติไทม์ไลน์ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้จำกัดวงการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว หากพบว่าไม่ไปรายงานตัว หรือมีการปกปิดข้อมูล อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ

...

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีรายงานจาก Phuket Hotnews ว่า จากกรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์นักเรียนจากโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดยะลาเดินทางกลับมาภูมิลำเนาในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จำนวน 3 คน ซึ่งทาง สสจ.ภูเก็ต ได้มีการส่งเชื้อไปตรวจที่ กทม. เพื่อหาว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่นั้น ได้มีแพทย์หญิงผู้หนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “คลัสเตอร์ที่มาจากโรงเรียนประจำจังหวัดยะลาที่ภูเก็ต เราตรวจพบว่าเป็นสายพันธุ์เบตาแอฟริกา ทางจังหวัดอื่นได้ตรวจบ้างหรือยังนะ ซึ่งตอนนี้กระจายไปหลายจังหวัดทางภาคใต้ รวมทั้งพังงาเพื่อนบ้านเรา”

รายงานแจ้งต่อไปว่า อย่างไรก็ตามทราบว่า สสจ.ภูเก็ต ได้ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ต.เกาะแก้ว และ ต.ป่าตอง จ.ภูเก็ต แล้ว และสำหรับสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่เริ่มพบที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) แพร่กระจายไม่เร็วเท่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แพร่กระจายเร็วกว่า สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ผลลัพธ์คือ เมื่อมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ชุมชนจะยากต่อการควบคุมมากกว่า

จากกรณีดังกล่าว นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ.ยะลา/ผกก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จ.ยะลา จึงได้ออกคำสั่งที่ 111/2564 ลงวันที่ 19 มิ.ย. ควบคุมการแพร่ระบาดในศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย (มัรกัสยะลา) และมัรกัสตาเซะ (เมดานมาดีนาตุลนูร) โดยห้ามนักเรียนกลุ่มญะมาอะห์ตับลีฆและบุคคลอื่นใดเข้า-ออกพื้นที่ดังกล่าว หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งให้ขออนุญาตต่อประธานศูนย์ดะวะห์ แล้วแต่กรณีและต้องรายงานตัวให้ สนง.สาธารณสุขอำเภอเมืองยะลาทราบ ทั้งนี้ต้องกำหนดเวลาเดินทางออกและกลับพื้นที่ดังกล่าวด้วย คำสั่งระบุด้วยว่า เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีโต้แย้ง หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามกฎหมาย

...

ขณะเดียวกัน พ.อ.ทิม เรือนโต รอง ผอ.สน.ปรมน.จว.มทบ.46/รอง ผอ.รมน.จ.ย.ล(ท.) นำนโยบาย พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผอ.รมน.ภาค 4 ในการป้องกันผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สั่งการให้ พ.อ.อธิภัทร พูลสมบัติ รอง หน.ฝ่ายการข่าวฯ ร่วมกับ ตม.จว.ยะลา โดย ร.ต.อ.เอกสิทธิ์ ลักษณาวงศ์ รอง สวฯ พร้อม ชุดสืบสวน ตม.จว.ยะลา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมมอบของเป็นขวัญกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำด่านความมั่นคงและด่านตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่ด่านคัดกรองขุนไวย์ และตรวจเยี่ยมด่านความมั่นคงมลายูบางกอก ต.สะเตง อ.เมืองยะลา เพื่อติดตามสถานการณ์ตามจุดตรวจคัดกรองต่างๆ ตามประกาศ ศบค.ยะลา ถึงมาตรการเข้มในการเดินทางเข้า-ออก พื้นที่ของจังหวัดยะลา อีกทั้งติดตามปัญหาข้อขัดข้องในการเดินทางเข้าออกของแรงงานต่างด้าวในการปฏิบัติงานประจำวันของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อป้องกันผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย.