ผู้ว่าฯ สงขลา หนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟ โรบัสต้าสะบ้าย้อย เพราะจากปัญหาสถานการณ์ยางพาราราคาตกต่ำ มีหน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมปลูกพืชชนิดอื่นๆ และได้ต้นพันธุ์กาแฟมาปลูกในชุมชน จึงเกิดเป็นกลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสะบ้าย้อย โดยชูสัญลักษณ์ต้นกาแฟโรบัสต้าที่เป็นต้นแรกของประเทศไทยปลูกอยู่ที่นี่ และขยายผลต่อจากเดิม 300 ไร่ เป็น 600 ไร่ และต่อยอดสู่โรงคั่วที่ได้มาตรฐาน GMP
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.64 นายชนะ มณีอ่อน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสะบ้าย้อย จ.สงขลา เปิดเผยว่า เริ่มแรกสมาชิกได้ตั้งกลุ่มใช้ชื่อแบรนด์ว่า “โกปี๊” หลังจากนั้น 2 ปีกว่า เริ่มคิดกันใหม่ว่า ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าถึงกลุ่ม และทำให้กาแฟเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า “กาแฟโรบัสต้า สะบ้าย้อย” และได้มีการพัฒนาผลผลิตมาเรื่อยๆ พร้อมสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตมีเพียงคั่วเมล็ดกาแฟแบบ คั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเพิ่มเป็นกาแฟคั่วบด ซึ่งจะมีทั้งคั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม และยังมีชาจากดอกกาแฟอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม อาทิ กาแฟดริปขนาด 250 กรัม ราคากล่อง 200 บาท คั่วเมล็ดขนาด 250 กรัม ราคา 200 บาท คั่วบดขนาด 250 กรัมราคา 180 บาท ซึ่งตอนนี้ที่เป็นที่นิยมสำหรับคอกาแฟ คือ กาแฟคั่วบด ทั้งแบบชงกาแฟสด และ กาแฟดริป เอาใจผู้บริโภค เพื่อความสนุกในการเลือกซื้อ

...
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผวจ.สงขลา กล่าวว่า ปีนี้ได้มีการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟ โรบัสต้าสะบ้าย้อย เป็นที่ถูกใจของคอกาแฟทั้งหลาย กาแฟสามารถปลูกได้ทุกที่ แม้กระทั่งในสวนยางพาราก็สามารถปลูกได้ตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องปลูกแต่กาแฟอย่างเดียว ยังสามารถปลูกพืชชนิดอื่นๆ เสริมได้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟสะบ้าย้อย จ.สงขลา ไม่ต้องกังวลว่า จะขาดรายได้ในช่วงระหว่างการปลูกกาแฟ จงรักษาพัฒนาสายพันธุ์กาแฟให้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และพัฒนาเพื่อการส่งออกต่อไป

ด้านนางวิไลวรรณ เกื้อก่อบุญ เกษตรอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา กล่าวว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ โดยเน้นเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ เกษตรกร และสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยให้กลุ่มพัฒนา 5 ด้าน คือ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพของผลผลิต บริหารจัดการและการตลาด ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ฯสะบ้าย้อย จ.สงขลา เดิมทีมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง แต่ผลผลิตที่ได้ยังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร กระบวนการแปลงใหญ่ตรงนี้จึงเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน โดยเพิ่มองค์ความรู้การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เน้นการใช้ปุ๋ยผสมใช้เอง และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี ซึ่งการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวอาจไม่เหมาะกับการกระตุ้นการเจริญเติบโตของกาแฟ จึงต้องจำเป็นที่จะมีเคมีเข้าร่วมด้วย แต่เคมีที่ใช้ คือ เป็นเคมีที่มีสูตรโดยไม่ต้องผสมดินผสมทราย มีธาตุอาหารเสริม ส่งผลให้กลุ่มลดต้นทุนการผลิตลงได้ ซึ่งจากเดิมเฉลี่ย 4,000 บาทต่อไร่ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2,000 บาทต่อไร่ และเน้นองค์ความรู้การผลิตพืชปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP ทุกรายต่อไป นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตร จะช่วยผลักดันให้กลุ่มสร้างจุดเด่นจนผลิตภัณฑ์ได้เป็น GI เพื่อการส่งออกและการเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในชุมชนต่อไป.
