สถานีพัฒนาที่ดินพังงา มุ่งส่งเสริมพัฒนาที่ดินเกษตรอินทรีย์ จ.พังงา พร้อมผลักดันให้เกษตรกรยกระดับมาตรฐาน GAP สู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS เพื่อการสร้างรายได้ที่มั่นคง

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 นายจตุพงษ์ เกตุรักษ์ หมอดินอาสาหมู่ 4 ต.นบปริง อ.เมืองพังงา จ.พังงา กล่าวว่า เดิมทำอาชีพรับจ้างทั่วไป พอปี 2557 หันมาทำเกษตร และถูกชักชวนให้มาเป็นหมอดินอาสาในปี 2559 จากนั้น กรมพัฒนาที่ดินพาไปอบรมเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS โดยมีหน่วยงาน ศวพ.เป็นผู้ตรวจสอบ หลังจากที่กลับมาก็มีแนวคิดเปลี่ยนว่า ทำเกษตรอินทรีย์น่าจะดี เพราะตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามศาสตร์พระราชาด้วย น่าจะส่งผลดีต่อตนเองและคนรอบข้าง ในปี 2560 ทำเป็น GAP อยู่สัก 2 ปี ก็มี ศวพ. จังหวัดพังงาที่มาแนะนำว่าทำเป็น GAP แล้วแต่ไม่ได้ใช้สารเคมี ตอนนั้น ใบรับรอง GAP กำลังจะหมดอายุ ทางเจ้าหน้าที่ก็แนะนำว่า ทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี น่าจะปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ จากนั้นจึงเริ่มหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืช 19 ชนิด เกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มคนละ 1 ชนิด ซึ่งตอนนี้ยังไม่ขยายเครือข่ายออกไป ส่วนมากผักที่ปลูกจะเป็นถั่ว กวางตุ้ง แตงกวา ผักกินใบพวกมันปู ถ้าเป็นสมาชิกจะปลูกผักกวางตุ้ง เพราะปลูกและดูแลรักษาง่าย ซึ่งเป็นพืชที่ได้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP ทั้งหมด มีการจัดจำหน่ายผ่านทางตลาดออนไลน์ ทั้งทางเฟซบุ๊กและทางไลน์

...

ถึงแม้จะประสบปัญหาตามฤดูกาล ช่วงพายุก็โดนพายุ หน้าแล้งตอนนี้ก็เจอปัญหาเกษตรกรในกลุ่ม และในส่วนตัวก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนทำให้ปลูกเยอะไม่ได้ หน้าร้อนก็โดนฝนทิ้งช่วง ตอนนี้ 2 เดือนกว่าแล้วที่สมาชิกปลูกพืชไม่ได้เลย ทำให้ต้องลดพื้นที่ปลูก โดยที่ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ ทางสถานีพัฒนาที่ดินพังงาจึงได้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆ และให้คำแนะนำเพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรปลอดภัย ยกระดับมาตรฐาน GAP สู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS และอยากเชิญชวนให้ทุกคนที่สนใจจะทำเกษตรอินทรีย์มาศึกษาเรียนรู้ที่สวนอินทรีย์หมอดิน 4 โดยติดต่อได้ที่หมอดินอู๊ด โทร. 062-9499448

ด้านนางสาวยุพาพร นาควิสัย ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินพังงา กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินพังงา ได้ดำเนินงานวางแผนในการพัฒนาคุณภาพดินให้แก่เกษตรกร พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาต่างๆ ในการเพาะปลูกพืชและสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักในการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และได้สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด.สารปรับปรุงดินต่างๆ และให้เกษตรกรเข้าร่วมอบรมโครงการ PGS ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการทำเกษตร และสร้างรายได้ที่มั่นคง และยังฝากถึงกลุ่มเกษตรกรต้นแบบกลุ่มนี้ว่ากรมพัฒนาที่ดินจะมาสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบตั้งแต่เรื่องดิน การใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเกษตรปลอดภัย ถ้าดินปลอดภัยก็จะทำให้พืชปลอดภัย ทั้งเกษตรกรรวมถึงผู้บริโภคก็สุขภาพดี ปลอดภัยตามไปด้วย.