กล้วยหิน หรือ “กล้วยซาบา” นิยมปลูกกันมากในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา แต่ปรากฏว่าในช่วงระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการระบาดของ “โรคเหี่ยว” ในกล้วย ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียทำให้กล้วยหินเหี่ยวตายไปเกือบทั้งหมด
นายศุกร์ เก็บไว้ ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดยะลา เผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้มีการคิดค้นนำเอาสารสกัดชีวภาพชีวภัณฑ์มาจัดการกับเชื้อโรคตัวนี้ โดยเมื่อ 5 ปีก่อน พื้นที่ อ.บันนังสตา มีการระบาดหนักของโรคเหี่ยวในกล้วยหิน กระทั่งเรามีวิธีการจัดการจนประสบความสำเร็จ กล้วยหินให้ผลผลิตดี ลูกโต
“การจัดการต้องทำให้ครบถ้วน ไม่ใช่แค่เอาสารสกัดชีวภัณฑ์ไปราดที่โคนต้น ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมดิน การเตรียมหลุม ทำให้ครบถ้วนตามกระบวนการวิชาการที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ ที่ผ่านมาเราไปรักษากันที่ปลายเหตุ เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง”
ด้าน น.ส.พรพยุง คงสุวรรณ นักวิชาการศูนย์วิจัยพืชสวนจังหวัดยะลา เผยว่า สถาบันวิจัยพืชสวนและศูนย์วิจัยพืชสวนยะลาได้นำผลงานวิจัยของสำนักอารักขาพืชมาใช้ประโยชน์ บวกกับเทคโนโลยีการผลิตกล้วย
วิธีการคือ จะเริ่มให้เชื้อบีเอสเดือนละ 1 ครั้ง ในอัตรา 25 กรัมต่อน้ำ 4 ลิตร รดเดือนละ 1 ครั้ง จากนั้นก็จะดูแลรักษา ตัดแต่งทางใบ ให้ปุ๋ยปกติ เกษตรกรจะต้องล้างมีดก่อนตัดแต่งทุกครั้ง
การดูแลพื้นที่ก็ต้องตัดหญ้าให้สะอาด ไม่ให้รก ไม่งั้นจะทำให้เกิดการสะสมของโรค ที่ผ่านมา ชาวบ้านยังปลูกวิธีแบบเดิมๆ ตัดกล้วยเสร็จก็เอากองสุมไว้ที่โคนต้น จะกลายเป็นแหล่งสะสมของโรคเหมือนเดิม
“บางแปลงเดิมทีเกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง ต้องเอาเทคนิคการผลิตกล้วยเข้ามาจัดการ โดยใช้ชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร เข้ามาใช้ในการป้องกัน ผลออกมาคือ กล้วยไม่เป็นโรคเลย”
...
น.ส.พรพยุง ยังกล่าวอีกว่า พร้อมกันนี้ได้ส่งดินวิเคราะห์ทุกเดือนผลปรากฏว่า กล้วยทั้งหมดในแปลง 100% ไม่เป็นโรค ทั้งๆที่เดิมมีโรคระบาดรุนแรง หากเกษตรกรมีปัญหาเกี่ยวกับโรคเหี่ยวในกล้วยหิน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ตั้งอยู่ที่ อ.ธารโต จ.ยะลา.
ธวัช สุวพิชญ์ภูมิ /รายงาน