ผอ.แขวงทางหลวงชุมพร ชี้แจง “ศาลาหมาเมิน” มูลค่าเพียง 3.8 หมื่น ออกแบบมาจากส่วนกลาง เพื่อให้สวยงามเข้ากับถนนเส้นทางท่องเที่ยว ส่วนที่ไม่ใช้ศาลาแบบเดิมเพราะ "เป็นแหล่งมั่วสุม-ถูกยึดขายของ" พร้อมแก้ไขให้กันแดดกันฝนได้

วันที่ 16 มิถุนายน นายวัฒนะ โพธิ์นาคเงิน ผอ.แขวงทางหลวงชุมพร นายฉลองชัย จุรุพันธุ์ นายช่างโครงการฯ ได้ร่วมกันชี้แจงกรณีชาวบ้านร้องเรียนศาลาที่พักผู้โดยสารรูปทรงสมัยใหม่สวยหรูงามตา จำนวน 16 หลัง ที่หลังคามีความกว้างเพียง 2.50 เมตร จึงไม่สามารถใช้บังแดดกันฝนได้ ซึ่งเป็นศาลาริมทางที่รวมอยู่ในโครงการงบประมาณก่อสร้างทางหลวงถนนสาย 3180, 3201 ชุมพร-ปะทิว (สนามบินชุมพร) รวมระยะทาง 28.820 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณก่อสร้างถนนสายดังกล่าวจำนวน 365,400,000 บาท สิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 63 รวมระยะเวลา 720 วัน โดยดำเนินการก่อสร้างขยายความกว้างของคันทางจากเดิม 9 เมตร เป็น 12 เมตร รวมทั้งปรับปรุงทางแยกตามแนวเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกและก่อสร้างวงเวียน 4 จุด ให้ประชาชนได้สัญจรปลอดภัยมากขึ้น ผู้รับผิดชอบโครงการโดยกรมทางหลวง

...

นายวัฒนะ โพธิ์นาคเงิน ผอ.แขวงทางหลวงชุมพร กล่าวว่า สำหรับศาลาที่นั่งรอรถโดยสารประจำทางที่สร้างอยู่ริมถนนสายดังกล่าวตามที่เป็นข่าวนั้นมีทั้งหมด 16 หลัง มีราคาเฉพาะตัวศาลาหลังละประมาณ 38,000 บาทเท่านั้น ไม่รวมปูพื้นทางเท้าและปรับปรุงภูมิทัศน์อื่นๆ ไม่ใช่มีราคาสูง 3-4 แสนบาท ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ส่วนกรณีรูปแบบของศาลานั้นได้ออกแบบมาจากส่วนกลางคือ กรมทางหลวง อาจจะมองถึงตามความจำกัดของสภาพพื้นที่ริมถนนที่จะมีการก่อสร้างศาลาและต้องการให้มีรูปทรงดูทันสมัยสวยงาม ให้เหมาะกับถนนที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อธิบดีกรมทางหลวงได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขรูปแบบของศาลาที่นั่งรอรถโดยสารใหม่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้งานกันแดดกันฝนได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ คาดว่าคงจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนกรณีที่มีพื้นปูวางทางเท้าบริเวณศาลามีการยุบพังเสียหาย ขอชี้แจงว่าโครงการถนนสายชุมพร-ปะทิว (สนามบินชุมพร) และศาลาดังกล่าว มีบางส่วนได้ตรวจรับงานแล้ว และบางส่วนยังไม่ได้ตรวจรับงาน ยังอยู่ระหว่างรอดำเนินการ ซึ่งก่อนรับงานจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนอยู่แล้ว ส่วนไหนชำรุดเสียหายผู้รับเหมาก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาว่าจ้าง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถตรวจรับงานและเบิกเงินส่วนที่เหลือได้

นายวัฒนะ กล่าวต่อว่า ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมไม่สร้างแบบศาลาทรงไทยสมัยก่อนนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีชาวบ้านในพื้นที่หลายแห่ง ร้องเรียนว่าศาลาลักษณะดังกล่าวกลายเป็นแหล่งมั่วสุม บางแห่งใช้เป็นที่ขายสินค้า และยังมีอีกหลายๆ ปัญหา ด้วย.