สถานีพัฒนาที่ดินพัทลุง หนุนชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ โชว์ศักยภาพหมอดินอาสาประจำอ.ศรีบรรพต ที่สามารถพลิกฟื้นจากดินร่วนปนทรายมาเป็นดินดีมีคุณภาพ พร้อมเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรรายอื่น

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.63 นางกัญญาภัค เกษตรสุนทร ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินพัทลุง กล่าวว่า ในพื้นที่จ.พัทลุง พื้นที่การเกษตรมีทั้งหมด 2,140,000 กว่าไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ยางพารา ประมาณ 9,000,000 กว่าไร่ ที่เหลือเป็นนาข้าวและแปลงไม้ผล พืชผัก นโยบายของจังหวัดพัทลุง ทางจังหวัดจะขับเคลื่อนให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ทั้ง 1,300,000 ไร่ โดยผวจ.พัทลุงได้ประกาศนโยบายอย่างเด่นชัดว่าเราจะเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ในพื้นที่ภาคใต้

นางสาวนิภาพร ชูกิจ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดินพัทลุง กล่าวว่า ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ดิน แปลงนายทนงค์ แสงเกิด หมอดินอาสาประจำอำเภอศรีบรรพต ภายในที่ดินแปลงนี้ได้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง น้ำหมักชีวภาพ ไว้ใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ให้กับพืชผักและนาข้าว ก็จะส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ช่วยลดต้นทุนการผลิต และยังส่งผลต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดิมลักษณะดินในพื้นที่ของหมอดินทนงค์ เป็นกลุ่มชุดดินที่ 39 ชุดดินคอหงษ์ เป็นดินร่วนปนทราย มีอินทรียวัตถุต่ำ ความอุดมสมบูรณ์มีน้อย เดิมมีการสนับสนุนให้ปลูกหญ้าแฝก เพื่อปรับโครงสร้างดิน ตามด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบำรุงดิน ต่อด้วยการทำปุ๋ยหมัก มีการแนะนำให้ใช้น้ำหมักชีวภาพ หรือว่าสารเร่งพด.7 สำหรับไล่แมลง ในการกำจัดศัตรูพืช

...

หมอดินอาสาทนงค์ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในปี 2541 พบว่าพื้นที่ของตัวเองที่เป็นยางพาราจำนวน 10 ไร่ ลำต้นมีลักษณะแคระแกร็น เจริญเติบโตไม่ดี เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ มีการขุดคูยกร่อง มีการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ หลังจากนั้นก็ได้มีการช่วยในการปรับปรุงบำรุงดิน เมื่อมีการปรับปรุงบำรุงดินมาเรื่อย ๆ สุดท้ายคือเลิกใช้สารเคมี หรือว่าปุ๋ยเคมีไปเลย เพราะว่าได้มีการนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของกรมพัฒนาที่ดินมาใช้ ทำให้ดินดีขึ้น ช่วยให้ลดต้นทุน เดิมหมอดินทนงค์จะมีการใช้สารเคมีในแปลง แต่หลังจากที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้แล้ว ก็ได้นำความรู้นั้นมาถ่ายทอดให้กับคนอื่น และปรับปรุงในพื้นที่ของตนเอง

เรื่องการลดต้นทุน อันดับแรกเลย หมอดินอาสามีการเลี้ยงหมู ซึ่งมูลของหมูตรงนี้ สามารถเอามาทำเป็นปุ๋ยหมักได้ ลดในเรื่องของการใช้ปุ๋ยเคมีไปเลย และเช่นการนำวัชพืชอย่างเช่นผักตบชวา ที่ขึ้นในสระก็จะเอาซากผักตบ มาคลุมเพื่อใช้ในการรักษาความชื้นให้กับดิน พอนานไปก็จะมีการย่อยสลาย ก็เป็นปุ๋ยให้กับดินได้ เป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ โดยไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องซื้อ

ส่วนที่อยากให้เพิ่มเติมก็คือลักษณะดินที่ดีแล้ว จะทำอย่างไรให้ยั่งยืนก็คือใช้เรื่องของเกษตรอินทรีย์เข้ามาช่วย ก็คือมีการผลักดันให้ได้การรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ในส่วนของตลาด ส่งเสริมให้มีการขายออนไลน์ และสุดท้ายก็คือสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อน ให้เป็นรูปแบบกลุ่มได้ต่อเนื่อง

นายทนงค์ แสงเกิด หมอดินอาสา อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้มาแนะนำในการปรับปรุงดิน ก็ทำมาตลอดเพราะต้องการให้ที่ดินตรงนี้ของตัวเองอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ได้ตามความต้องการ รายได้มีมากหลายชนิด ได้จากปาล์มบ้าง และพืชอายุสั้น ได้รายได้จากการเลี้ยงปลาดุก และยังมีการขายปุ๋ยหมัก แบบนี้เราอยู่ได้แล้วเพราะว่า เรามาทำเกษตรพอเพียง เราไม่ต้องนึกถึงเรื่องอื่นเราต้อง นึกถึงความปลอดภัยไว้ก่อน ส่วนใหญ่เราจะทำขายในบ้าน ตลาดใกล้ ๆ เพราะอยากให้คนเขาได้กิน ผักที่ปลอดสารพิษ เพราะเราคำนึงถึงผู้บริโภคด้วยที่เราทำปลูกผักแบบนี้ ถึงเรารายได้ไม่มากแต่ว่า มันลดต้นทุน ข้าวสาร กุ้งหอยปูปลา เราไม่ต้องซื้อ ได้วันหนึ่ง 400-500 ก็อยู่ได้แล้วโดยไม่ต้องเดือดร้อนความเป็นอยู่ของครอบครัว.

...