ผวจ.ยะลา ประชุมคณะทำงานเตรียมความพร้อมรับคนไทย 503 คน ทยอยเดินทางกลับจากมาเลเซีย 18 เม.ย.นี้ มีสถานที่รองรับ หากพบเชื้อส่งไป รพ. ไม่พบเชื้อส่งไปกักตัวดูอาการอย่างน้อย 14 วัน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดฯ เพิ่มอีก 3 คน มีเด็ก 4 ขวบด้วย อยู่ใน อ.บันนังสตาทั้งหมด
วันที่ 17 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายางนว่า นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ.ยะลา/ผู้กำกับการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลา ได้ประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรณีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) จังหวัดยะลา เพื่อประเมินสถานการณ์ และติดตามผลการปฏิบัติในห้วงที่ผ่านมา และมาตรการเตรียมความพร้อมรับคนไทย ที่จะเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย กรณีจะมีการเปิดด่านในวันที่ 18 เม.ย.นี้
นายวรเชษฐ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ข้อมูลเบื้องต้น ที่ได้รับรายงานคนไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย มีภูมิลำเนาในจังหวัดยะลา ประมาณ 503 คน จะทยอยเดินทางกลับเข้ามาในพื้นที่จังหวัดยะลา ในวันที่ 18 เม.ย. ไม่ใช่เดินทางเข้ามาพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งแต่ละด่านที่มีขนาดใหญ่ มีมาตรการกำหนดให้คนไทยเดินทางเข้ามาวันละ 100 คน ส่วนด่านเล็ก วันละ 50 คน ทางจังหวัดยะลา ได้เตรียมการสถานที่สังเกตอาการ Local Quarantine ทั้งระดับจังหวัด ที่วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธรยะลา และศูนย์สังเกตอาการระดับอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอ รองรับประมาณ 700 เตียง
"คาดว่าจำนวนคนไทยที่ทำงานมาเลเซีย กลับเข้ามา 503 คน สถานที่รองรับเพียงพอ ส่วนสถานที่อื่นๆ ที่วางแผนเตรียมความพร้อม เป็นเพียงสถานที่สำรองเท่านั้น ส่วนที่ทางจังหวัดยะลา ได้มีการประชุมหารือกับคณะกรรมการหลายฝ่าย ประสานไปยังเจ้าของกิจการโรงแรมในพื้นที่ ประสงค์จะให้ทางราชการไปใช้ ยืนยันขณะนี้ ทางจังหวัดยังไม่ได้ตัดสินใจ ยังไม่ได้ทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ เป็นเพียงข้อเสนอหนึ่ง กำลังพิจารณาอยู่ สถานที่ ที่เตรียมการเพิ่มเติม คือ ที่สถานบันภาษานานาชาติ มหาวิทยาลัยฟาฎอณี ตั้งอยู่ที่ สามแยกกิโลศูนย์ บ้านปารามีแต ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา
...
ด้าน นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า หลังจากคนไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย เดินทางกลับมาเข้าในจังหวัดยะลา สถานที่แรก เจ้าหน้าที่จะนำไปยัง ศูนย์สังเกตอาการระดับจังหวัดยะลา Local Quarantine ที่วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธรยะลา ซึ่งมีสถานที่รองรับ ราว 200 เตียง กระบวนการที่ดูแล เจ้าหน้าที่จะตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นอันดับแรก ผลออกมายืนยัน จะส่งไปยังโรงพยาบาลยะลาเพื่อทำการรักษา ส่วนผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อ จะใช้เวลากักตัว 14 วัน ภายในศูนย์ เพื่อสังเกตอาการ มีการเฝ้าระวังสังเกตอาการ 2 อย่าง คือ 1.ดูว่าในช่วงระยะเวลา 14 วัน มีอาการเกิดขึ้นตอนไหน 2.เมื่อเข้าไปอยู่ในศูนย์ จะได้เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด คือ มีเชื้อแต่ตรวจไม่พบเชื้อ เนื่องจากแต่ละคนเดินทางเข้ามาต่างสถานที่กัน และส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ร่างกายแข็งแรง ความเข้มของเชื้อจะแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังต้องขอบคุณ หากคนกลุ่มนี้ออกไปอยู่ข้างนอก ไม่มีการกักตัว 14 วัน โอกาสจะไปแพร่เชื้อในที่สาธารณะก็จะมากยิ่งขึ้น

วันเเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้รายงานสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ประจำวัน วันที่ 17 เม.ย.นี้ จังหวัดยะลา มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย สรุป มีผู้ป่วยสะสม 99 ราย รายใหม่ 3 ราย รักษาหายสะสม 44 ราย รักษาในโรงพยาบาล 52 ราย เสียชีวิต 2 ราย
จากการตรวจสอบ พบว่า ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบเพิ่มจำนวน 3 รายข้างต้น เป็นราษฎรในพื้นที่บ้านตลาดเขื่อนบางลาง หมู่ 1 ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา ทั้ง 3 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเด็กหญิง อายุ 4 ปี 1 ราย และเป็นชายสูงวัย อายุ 82 ปี ส่วนอีกรายเป็นชายวัยรุ่น อายุ 22 ปี ทั้งนี้ จากการสอบประวัติของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอบันนังสตา พบผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 3 ราย ได้เกี่ยวข้องสัมผัสรับเชื้อไวรัสจากบุคคลในครอบครัวที่ไปเข้าร่วมดะวะห์ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่หมู่ 3 ต.บันนังสตา ก่อนหน้านั้น
สำหรับ อ.บันนังสตา มีผู้ป่วยเป็นราษฎรหมู่ 1 ตลาดเขื่อนบางลาง ต.เขื่อนบางลาง จำนวนมากที่สุด รวมจำนวน 13 ราย และอาศัยอยู่ใน ต.บาเจาะ กับต.บันนังสตา ตำบลละ 8 ราย รวมผู้ป่วยใน อ.บันนังสตา ทั้งสิ้น จำนวน 33 ราย เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอำเภอทั้งหมด และยังไม่มีผู้เสียชีวิต