นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการ ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยถึงโรคใบร่วงยางพาราที่กำลัง ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างว่า ขณะนี้มีพื้นที่เกิด โรคระบาดตั้งแต่นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ตรัง พังงา และ อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่กว่า 400,000 ไร่แล้ว
“ทั้งนี้ การระบาดที่เกิดขึ้นไม่ใช่มีแค่เฉพาะยางพาราเท่านั้น ยังพบว่า เชื้อราตัวนี้สามารถแพร่ระบาดสู่พืชชนิดอื่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มไม้ผล พบทั้งในมะละกอ ทุเรียน หรือแม้แต่วัชพืช เช่น ต้นหญ้า สามารถเป็นโรคชนิดเดียวกันได้ ต่อจากนี้ได้เตรียมเสนอมาตรการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางที่สวนเสียหายจากเชื้อราชนิดนี้ เตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการ กยท. เพื่อหาระเบียบในการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ประสบปัญหา”
ด้าน นายกฤษดา สังข์สิงห์ ผอ.สถาบันวิจัยยาง เผยว่า ขณะนี้ กยท.ได้ขอความร่วมมือทีมงานภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ และกรมวิชาการเกษตร ทำการสำรวจและติดตามการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจถึงที่มาของโรค การแพร่ระบาดและวิธีป้องกันในเบื้องต้น ให้กับพนักงาน กยท. และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรค เพื่อถ่ายทอดความรู้สู่ชาวสวนยาง เพราะอาจมีเชื้อราชนิดอื่นร่วมด้วยเนื่องจากมีการระบาดในพืชชนิดอื่นด้วย
...
ส่วนการศึกษาหาทางป้องกันเชื้อราชนิดนี้ สถาบันวิจัยยางได้ทดลองใช้โดรนฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อรา โปรปิโคนาโซล+ไดฟี–โนโคนาโซล ผสมกับน้ำและสารจับใบ บินพ่นยอดยางในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 300 ไร่ ช่วง 1 สัปดาห์ และพ่นซ้ำครบ 3 ครั้ง พบว่า ใบยางได้ร่วงไปแล้วทั้งหมด และใบที่แตกออกมาใหม่ไม่พบว่า มีโรคนี้เกิดขึ้นอีก สันนิษฐานว่า การฉีดป้องกันด้วยวิธีนี้ได้ผลดี
“แต่เนื่องจากการใช้โดรนได้ พื้นที่น้อย แค่วันละ 100 ไร่ คงไม่สามารถยับยั้งการระบาดของเชื้อราที่กินพื้นที่มากถึง 400,000 ไร่ได้ทัน อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบการฉีดพ่นด้วยแอร์โฟลว์ ที่มีการติดตั้งเครื่องฉีดพ่นแรงดันสูงบนรถยนต์ที่วิ่งในสวนยางมาพ่นสารกำจัดเชื้อราแทน เพราะสามารถฉีดพ่นได้มากถึงวันละหลายพันไร่ ดีกว่าใช้โดรน” ผอ.สถาบันวิจัยยางกล่าว.