ขึ้นชื่อว่า “ควายน้ำ” ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี

เพราะฝูงควายน้ำของเกษตรกร 169 ราย จากพื้นที่ 3 จังหวัด นั่นคือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง พื้นที่ อ.ชะอวด อ.หัวไทร และพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา พากันนำควายน้ำมาเลี้ยงรวมในพื้นที่เดียวกัน

โดยเฉพาะบริเวณใกล้สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นสะพาน ยกระดับที่ยาวที่สุดในประเทศไทยเชื่อมระหว่าง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กับ อ.ระโนด จ.สงขลา สร้างชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวแบบเขา ป่า นา เล ให้กับจังหวัดพัทลุงจนโด่งดังทั่วประเทศ

ในปี 2561 จ.พัทลุง จึงได้ขับเคลื่อนระบบการเลี้ยงควายน้ำ หรือควายปลัก ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยสู่ระบบทางการเกษตรโลก โดยมีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงเป็นหน่วยงานดำเนินการ และมีส่วนราชการและหน่วยงานสนับสนุนอีก 9 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันจัดทำข้อเสนอโครงการขับเคลื่อนระบบการเลี้ยงควายปลัก (ควายน้ำ) ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยสู่ระบบมรดกทางการเกษตรโลก

ล่าสุด น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอพื้นที่ระบบการเลี้ยงควายน้ำ หรือควายปลัก ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง เข้าสู่มรดกทางการเกษตรโลก

โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีความตั้งใจที่จะเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ระบบมรดกทางเกษตรโลกเข้ามาร่วมด้วย

การขึ้นทะเบียนพื้นที่การเลี้ยงควายน้ำหรือควายปลัก เป็นพื้นที่ระบบมรดกทางการเกษตรโลกเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่าคงไม่ไกลเกินฝัน

...

เพราะจังหวัดพัทลุงมีของดีในระดับโลกที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร!!!

สุธรรม คงเพชร