การดำเนินโครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลนั้น ได้มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสัตว์เกาะติดและประชากรปลา ในวันแรกของการวางเรือพบฝูงปลามงเข้ามาว่ายวนเวียน ผ่านไป 1 ปี ชนิดปลาเพิ่มมากกว่า 40 ชนิด และปีต่อๆมาก็เพิ่มเป็นมากกว่า 60 ชนิด ซึ่งรวมถึงปลาหายาก เช่น ปลาเก๋าดอกหมาก ปลาหมอทะเล และ ปลาสาก โดยเฉพาะบริเวณเรือหลวงปราบ พบฉลามวาฬอย่างสม่ำเสมอ สำหรับสัตว์เกาะติดมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง ฟองน้ำเคลือบ ปะการังดำซึ่งเป็นสัตว์พันธุ์เด่น (Dominant Species) และการศึกษาด้านการใช้ประโยชน์และการจัดการแหล่งดำน้ำเรือหลวง พบว่า การใช้เรือหลวงเป็นแหล่งดำน้ำแทนแนวปะการังนั้นได้ผลดีมาก

“เรือครู” ทั้งสองลำจึงมีส่วนช่วยพิทักษ์ทะเลไทยเกินความคาดหมาย และจากการที่เกาะเต่าก็เป็น “แหล่งดำน้ำที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” บริเวณแนวปะการังเต็มไปด้วยเรือพานักดำน้ำชาวไทยและชาวต่างชาติมากระโดดลงทะเลแทบไม่ว่างเว้น สิ่งที่น่าห่วง คือ การทอดสมอจอดเรือในแนวปะการัง ซึ่งหากขาดการจัดการที่ดี การทอดสมอจอดเรืออาจทำลายแนวปะการังได้อย่างไม่คาดคิด ด้วยเหตุดังกล่าว ปตท.สผ.จึงสนับสนุนการจัดทำฐานคอนกรีต ทุ่นผูกเรือ และคอยดูแลซ่อมแซมทุ่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้เกาะเต่ามีการจัดการวางทุ่นในแหล่งดำน้ำต่างๆไม่น้อยกว่า 100 ทุ่น

เรือหลวงปราบ และ เรือหลวงสัตกูด กลายเป็นแหล่งดำน้ำยอดนิยมที่คนทั่วโลกรู้จัก สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ปีละกว่า 59 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 7 ปีตั้งแต่เริ่มโครงการ สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 413 ล้านบาท จากกิจกรรมดำน้ำ การสอนดำน้ำ โรงแรมและที่พัก และอื่นๆ ซึ่ง ปตท.สผ.ได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (Social Return of Investment หรือ SROI) ของโครงการ โดยนำผลลัพธ์ทางสังคมมาคำนวณมูลค่าเป็นตัวเงิน แล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ไปในการดำเนินโครงการ พบว่า ผลตอบแทนทางสังคมของโครงการนี้เท่ากับ 5.34 : 1 ถือเป็นผลตอบแทนทางสังคมที่น่าชื่นใจมาก

...

สำคัญที่สุด คือ ความอุดมสมบูรณ์ของบรรดาสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดที่กำลังก่อตัวขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเลของนักดำน้ำ และกลายเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลแห่งอื่นๆต่อไปในอนาคต.

"เปลี่ยนสังคมด้วยมือคุณ"

อ่านข่าวเพิ่มเติม