จนท.เขตห้ามล่าฯ-ทีมพี่เลี้ยงนำน้องมาเรียมอาบน้ำ ก่อนใส่ถังขึ้นเครื่องบินของทหารเรือ ส่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อนำไปสตัฟฟ์ไว้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ คลอง 5 เพื่อการศึกษาและการอนุรักษ์ต่อไป
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ท่าอากาศยานตรัง นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หน.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง พร้อมด้วย ส.พญ. พัชราภรณ์ แก้วโม่ง นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันดามัน(ภูเก็ต) เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทีมสัตวแพทย์ผู้ดูแล และนายสุวิท สารสิทธิ์ หรือ บังจ้อน อาสาสมัครทีมพิทักษ์ดุหยง ได้นำร่างของมาเรียม พะยูนน้อยอายุประมาณ 9 เดือน หลังได้เสียชีวิตลงเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังอยู่ในการดูแลของแพทย์ทั้งหมด 111 วัน

เจ้าหน้าที่ฯ และพี่เลี้ยงมีการอาบน้ำเพื่อล้างทำความสะอาด และเช็ดตัวให้แห้งเป็นครั้งสุดท้าย โดยทีมจิตอาสาขอมีส่วนร่วมในการอาบน้ำให้น้องมาเรียมเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อร่ำลาด้วยความอาลัย หลังการอาบน้ำเช็ดตัวให้มาเรียมเสร็จแล้ว ทุกคนต่างร่ำลามาเรียมด้วยใบหน้าที่เศร้าหมอง ก่อนจะน็อกน้ำแข็ง บรรจุในถังพลาสติกสีน้ำเงินอย่างดี เคลื่อนย้ายร่างออกจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) ต.ตำบลไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง โดยรถยนต์ เพื่อนำร่างมาขึ้นเครื่องบินเล็ก ราชนาวี กองทัพเรือภาคที่ 3 เลขเครื่องบินลาดตระเวนแบบ ดอร์เนียร์ DO-228 หมายเลข 8226 ออกจากท่าอากาศยานตรัง มุ่งสู่สนามบินดอนเมือง กทม. และนำไปยังองค์การพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ คลอง 5 จ.ปทุมธานี เตรียมนำไปสตัฟฟ์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและอนุรักษ์ต่อไป โดยคาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 ชม.
...

นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ภารกิจในครั้งนี้จะนำน้องมาเรียมไปสตัฟฟ์ ไว้ที่ กทม. เพื่อที่จะเป็นประวัติศาสตร์ของมาเรียมโมเดล สัญลักษณ์และเรื่องราวของมาเรียมให้เพื่อที่จะส่งต่อในเรื่องของการอนุรักษ์พะยูนฝูงใหญ่ แล้วจะเชื่อมโยงกับเรื่องนโยบายของทางกระทรวงทรัพยากรฯ ที่จะให้พะยูนเป็นวาระพะยูนแห่งชาติ ปีหน้าก็จะมีแผนการประชุมพะยูนโลกที่ จ.ตรัง และในครั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่ในโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเป็นพระอุปถัมภ์น้องมาเรียมและน้องยามีล
หน.เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวต่อว่า พระองค์จึงมีดำรัสว่า ให้นำน้องมาเรียมไปสตัฟฟ์ไว้ เพื่อเป็นกรณีศึกษาและถอดบทเรียน หลังจากประชุมร่วมกันกับทางผู้ใหญ่ของกรมฯ ก็นำไปสู่เรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของขยะทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตวทะเลหายากได้เจ็บป่วยและล้มตายเป็นประจำ และทางกระทรวงได้มีแนวทางให้พี่น้องประชาชนหันมาสนใจเรื่องการกำจัดขยะ โดยขยะในเมืองที่ไหลลงสู่ทะเล และขยะจากต่างประเทศ

ด้าน นายอะเหร็น พระคง ประธานเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง เปิดเผยว่า มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องของมาเรียม แต่พวกเราทำตั้งแต่เรื่อง พะยูน โลมา และเต่าทะเล เราดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 แต่เรื่องมาเรียมเป็นผลพลอยได้ พวกเราเสียใจด้วยที่มาเรียมเสียชีวิตจากการกินขยะถุงพลาสติก เพราะเคสมาเรียมได้จุดประกายทำให้หลายอย่างที่เกิดจิตสำนึกอนุรักษ์พะยูน และสัตว์ทะเลหายากมากยิ่งขึ้น ขณะนี้ ทางชมรมฯ ได้เสนอทาง ผวจ.ตรัง ให้นำเอายุทธศาสตร์พะยูน ไปอยู่ในยุทธศาสตร์วาระของ จ.ตรัง ด้วย และพยายามผลักดันให้จัดกิจกรรมพะยูนโลกขึ้นที่ จ.ตรัง นี่คือผลพลอยได้จากมาเรียม พวกเราในฐานะนักอนุรักษ์ฯ ทั้งมูลนิธิอันดามัน ชมรมชาวประมงพื้นบ้านและภาคีเครือข่าย ก็พยายามทำเรื่องของขยะมาแล้วตลอด ทั้งจัดเวทีและกิจกรรมต่างๆ ถือเป็นเรื่องใหญ่.