ได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบ 3 น้ำ ที่มีขนาดใหญ่ในลำดับต้นๆของประเทศ สำหรับ ทะเลสาบสงขลา คือมีพื้นที่ราว 974 ตารางกิโลเมตร กว้างจากทิศตะวันตกไปตะวันออกสัก 20 กิโลเมตร และยาวจากทิศเหนือยังทิศใต้อีก 75 กิโลเมตร และพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบอีก 1,040 ตารางกิโลเมตร เป็นทะเลสาบที่มีทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ โดยขึ้นชื่อในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่มากกว่า 700 ชนิด ทั้งปลา กุ้ง ปู ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หล่อเลี้ยงชุมชนมากกว่า 150 ชุมชน
ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรสัตว์น้ำโดยเฉพาะ ปู ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์สำคัญเลี้ยงปากท้องของชาวบ้าน และมีราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากในช่วง 10 ปีก่อน ที่ราคาปูม้าอยู่ที่กิโลกรัมละ 90 บาท มาถึงวันนี้ หากซื้อตรงจากชาวประมง ปูม้าขนาด 3-4 ตัวกิโลฯ ราคาดีดตัวขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 350 บาท ถ้าซื้อผ่านแม่ค้าในตลาด ราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท
เรียกว่า...จะกินทีต้องนับแบงก์ในกระเป๋ากันเลยทีเดียว...
และเพราะความที่ราคาปูม้าสูงขึ้นอย่างมากนี่เอง ที่ส่งผลให้จำนวนของประชากรปูลดลงอย่างต่อเนื่องจากการถูกจับขายอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ธรรมชาติจะทดแทนได้ทัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่ากลัวเกินกว่าจะคิดต่อว่าจะเป็นอย่างไร หากสภาพของทะเลสาบเปลี่ยนแปลง และสัตว์เศรษฐกิจหมดทะเล เพราะคงไม่เพียงชาวประมงรุ่นปัจจุบันที่ลำบาก ลูกหลานก็อาจหมดอาชีพไปด้วย
นั่นจึงเป็นจุดพลิกผันสำหรับ อนันต์ มานิล ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน ป.ทรัพย์อนันต์ ตัดสินใจรวมกลุ่มชาวประมงราว 200 คน ที่ใช้เครื่องมืออวนจมและลอบดักปูหากินในน่านน้ำทะเลสาบสงขลา เขตอำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด ร่วมกันอนุรักษ์ปูด้วยการศึกษาเรื่องการเพาะฟักลูกปู
...
“แรกเริ่มที่นี่ใช้ระบบจัดการเดียวกับธนาคารปูทั่วไป คือชักชวนให้สมาชิกนำปูที่มีไข่นอกกระดอง (บริเวณหน้าท้อง) มาให้ยี (เขี่ยไข่) แทนการรับเลี้ยงแม่ปูจนไข่ฟักออกเป็นตัวอ่อนเพื่อร่นเวลาคืนแม่ปูแก่เจ้าของ ก่อนจะหันมาใช้วิธีอบรมการยีไข่แก่สมาชิกเพื่อให้เจ้าของปูทำเอง แล้วเพียงนำไข่ที่ยีเสร็จมาบริจาคให้ทางกลุ่มขยายพันธุ์ต่อจนกว่าจะถึงระยะลูกปูวัยอ่อนที่พร้อมคืนสู่ทะเล” อนันต์บอก คล้ายฝากสินทรัพย์ไว้กับธรรมชาติ ให้มีชีวิตเติบโตต่อ เพื่อย้อนเป็นดอกเบี้ยไม่รู้จบแก่ชาวประมงในอนาคต
ธนาคารปูแห่งนี้มีการเติบโตขึ้นจากความร่วมมือของชุมชนและเอกชนอย่างน่าสนใจ ซึ่งจะเล่าต่อไป...ในตอนหน้า...!!