แทบทุกวันพนักงานวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยจะต้องเร่งบรรจุผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลและอาหารทะเลสดลงหีบห่อ เพื่อจัดส่งลูกค้าทั้งภายในปัตตานีและจังหวัดอื่นๆให้ทันเวลา
...มันเป็นงานในขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่รับซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสดจากชาวประมงพื้นบ้านและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลากุเลาเค็ม ปลาอินทรีเค็ม กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง และกะปิ...ถึงแม้จะเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กที่เพิ่งดำเนินการมาได้เพียง 2 ปี นับจากก่อตั้งเมื่อ 10 เมษายน 2560 แต่วิสาหกิจชุมชน “โอรังปันตัย” ก็มิใช่ “หน้าใหม่” ในวงการ
เพราะแต่เดิมพวกเขาได้รวมตัวกันในนามสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว
แต่หลังจากที่เครือข่ายสมาชิกสมาคมฯ ทำงานอนุรักษ์ท้องทะเลหน้าบ้าน ระยะทาง 3 กิโลเมตรจากชายฝั่งมานานปี ใช้เครื่องมือที่ไม่ทำลายล้างสัตว์น้ำ จนเห็นผลว่าทรัพยากรประมงฟื้นตัว จับกุ้ง หอย ปู ปลา ได้มากขึ้น แต่เกิดคำถามว่าแล้วทำไมคุณภาพชีวิตของพวกตนยังไม่ดีขึ้น สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นแต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นตาม
จึงได้ร่วมกันค้นหาคำตอบผ่านกระบวนการวิจัยท้องถิ่นของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ก็พบว่า ระบบกลไกตลาดมีการเบียดบังมูลค่าส่วนเกิน จะหาทางออกจากวงจรปัญหานี้ได้ ชาวบ้านต้องฝ่าด่านด้วยการเข้ามาทำธุรกิจชุมชนด้วยตนเอง และอาศัยภูมิปัญญาที่มีอยู่มาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า
วิสาหกิจชุมชนจึงเป็นคำตอบหนึ่งในการแก้ปัญหาพื้นฐานที่พวกเขาเผชิญ...“โอรังปันตัย” เป็นภาษามลายูพื้นถิ่น แปลว่าชาวทะเล ถูกนำมาใช้เป็นชื่อวิสาหกิจชุมชน ที่สมาชิกและผู้ดำเนินงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 86,722 คน จาก 52 หมู่บ้าน ใน 6 อำเภอ คือ อำเภอหนองจิก อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น
...
พวกเขาหวังว่าการดำเนินงานวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย จะเป็นต้นแบบในการทำธุรกิจของชุมชนประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบในเรื่องการทำธุรกิจด้านอาหารทะเลปลอดสารเคมีโดยชุมชนและส่งตรงถึงผู้บริโภค เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน
ประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีมีการยกระดับราคาของสัตว์น้ำของชุมชนประมงพื้นบ้าน ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งสามารถนำเสนอเรื่องราวของชาวประมงพื้นบ้านกับการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง
มูหามะสุกรี มะสะนิง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชมโอรังปันตัย บอกว่า สินค้าเด่นของกลุ่มเราคือ “ปลากุเลาเค็ม” ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชาวทะเลและภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา โดยเราจะสามารถจับปลากุเลาได้มากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม หลังจากนั้นจะจับได้ไม่มากนัก แม้ระยะเวลาจับปลากุเลาได้สั้นเพียง 3 เดือน ที่คนอื่นอาจมองว่าเป็นจุดอ่อน แต่เราคิดว่านี่คือจุดแข็งเพราะทำให้เป็นปลาที่หากินได้ยาก ต้องคิดค้นวิธีการที่จะทำให้มีสินค้าได้ตลอดปี
“กุเลายังเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี โดยทั่วไปคนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ ส่วนใหญ่ผู้ซื้อมักจะต้องการนำไปฝากผู้หลักผู้ใหญ่ มักจะซื้อปลากุเลาเค็มตัวใหญ่ๆไปฝากให้สมฐานะ ดังนั้นช่วงเทศกาลต่างๆจะเป็นช่วงที่ขายดีมาก” มูหามะสุกรีว่าอย่างนั้น
รายละเอียดเรื่องการรับซื้อปลากุเลาสดจากชาวประมงทั่วไป วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยจะรับซื้อปลากุเลาขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 8 ขีดขึ้นไป ซึ่งจะต้องเป็นปลาที่จับมาโดยเครื่องมือที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่แช่น้ำแข็ง นั่นก็คือต้องเป็นปลาสดๆจากท้องทะเลหน้าบ้าน จึงจะเหมาะแก่การนำมาทำปลากุเลาเค็ม
โดยประกันราคารับซื้อที่ 230 บาท/กิโลกรัม กลายเป็นราคาอ้างอิงของชาวบ้านในการซื้อขายปลากุเลาสดในเวลานี้ ช่วยพยุงราคาให้สูงขึ้นกว่าเดิมจากแต่ก่อนที่กิโลกรัมละไม่ถึง 200 บาท และที่สำคัญคือใครมีปลากุเลาเท่าไรส่งมาโอรังปันตัยรับซื้อตลอด เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าตัวนี้เป็นอย่างสูง
เมื่อได้ปลาสดมาแล้ว ก็นำมาหมักเกลือและตากให้แห้งภายในโรงเรือนกางมุ้ง เพื่อรักษาความสะอาด ตากแดดตากลมอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานถึง 30-60 วัน (แล้วแต่ขนาดปลา) จนกระทั่งน้ำหายไปจากปลาประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เหลือแต่เนื้อปลาแห้งแต่ทอดแล้วเนื้อนุ่มรสชาติดี น้ำหนักเหลือเพียง 40 เปอร์เซ็นต์จากปลาสด จึงจะนำส่งลูกค้าตามออเดอร์ที่เข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน
เราใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต นับแต่คัดเลือกปลากุเลาสด จนถึงการปรุงรสหมักเกลือให้รสชาติพอดี ไม่เค็มจนเกินไป ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ปลากุเลาเค็มโอรังปันตัย จากบ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ค่อยๆได้รับความนิยม และได้รับรองมาตรฐานฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามอีกด้วย
อนุศาสน์ สุวรรณมงคล เจ้าของกิจการโรงแรมซีเอส ปัตตานี หนึ่งในลูกค้าที่ให้การสนับสนุนปลากุเลาเค็มโอรังปันตัยเข้าสู่เมนูของครัวโรงแรม เสริมว่า กุเลาเค็มของโอรังปันตัยเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดี เราจึงต้องการสนับสนุนชุมชน ในฐานะที่เราอาศัยอยู่ปัตตานีจึงอยากสนับสนุนให้กุเลาเค็มของปัตตานีเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์อื่นๆภายในจังหวัด
“เมนูในโรงแรมที่เชฟคิดค้นสูตรขึ้นมาเพื่อรองรับปลากุเลาเค็มของปัตตานีมีหลากหลาย เช่น ทอดมันปลากุเลา กุ้งสับปลากุเลา ไข่ตุ๋นปลากุเลา หลนปลากุเลา คะน้าฮ่องกงปลากุเลา นอกเหนือไปจากยำปลากุเลาเค็มที่เป็นเมนูมาตรฐานที่รู้จักกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว”
...
ช่วงสองปีที่ผ่านมาของการดำเนินการวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย อนุศาสน์ มองว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จอยู่ที่ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้มีคุณภาพมาตรฐาน ผลิตอย่างถูกสุขลักษณะ รองลงมาคือเป็นความสำเร็จที่ทุกคนให้ความร่วมมือ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และความรู้ความสามารถของผู้นำชุมชนด้วย อย่างน้อยที่สุดทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลาย ทำให้คนทั่วไปได้ทราบว่าปัตตานีก็มีกุเลาเค็มคุณภาพดี
สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.จิราภา วรเสียงสุข อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคยทำงานวิจัย “การประกอบอาชีพและการว่างงานของชาวประมงพื้นบ้านในหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี” ที่ว่าผู้ผลิตตัวสินค้าซึ่งมีรสชาติดี และความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ก้าวเดินไปได้อย่างสง่างาม
“พื้นที่บริเวณบ้านตันหยงเปาว์ ซึ่งมีทะเลที่สวยสะอาด และทำประมงพื้นบ้าน ประกอบกับมีแกนนำในการต่อสู้ไม่ให้เรืออวนลากอวนรุนเข้ามา ทำให้ชาวบ้านยังคงทำประมงพื้นบ้านตามวิถีของตนเองอยู่ได้ และเมื่อมีการแปรรูปโดยไม่ผ่านคนกลางก็ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน...
ส่วนที่ว่าในอนาคตกิจการนี้จะรอดหรือไม่นั้นอาจต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของชาวบ้าน และเท่าที่ทราบมาทางวิสาหกิจก็ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่มีโอกาสได้เข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี นับเป็นกิจการที่สังคมควรสนับสนุน” รศ.จิราภา ให้ความเห็นทิ้งท้าย
วิสาหกิจชุมชน “โอรังปันตัย” จำชื่อนี้กันไว้ให้แม่นๆ โดยเฉพาะของดีเด่นดัง “ปลากุเลาเค็ม” สั่งด่วนสั่งเลยส่งได้ทั่วไทย.