2 นักวิชาการยัน ฝนตกที่เดียวมาจากฉี่จักจั่นหลายตัว แจงกินแล้วหายป่วยเพราะเป็นความเชื่อ ชี้ฉี่จักจั่นไม่ต่างจากฉี่คน เตือนอย่านำไปดื่ม...

จากกรณีที่มีข่าวฮือฮา ฝนตกที่เดียว "ใต้ต้นสะตอ" คนป่วยติดเตียง นำไปดื่มลุกขึ้นได้ ตามที่เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วนั้น

ล่าสุด ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยถึงกรณีดังกล่าว กับ ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่มีละอองน้ำคล้ายน้ำฝนตกลงมากจากต้นสะตอนั้น มาจากฉี่ของจักจั่น เพราะเมื่อจักจั่นเกาะอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นจำนวนมาก และฉี่ลงมาพร้อมกัน ก็จะเหมือนละอองฝนตกลงมา ซึ่งสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ส่วนประเด็นที่ว่า ฉี่จักจั่นนำมารักษาโรคได้หรือไม่ หรืออันตรายต่อผู้ที่ดื่มกินหรือไม่นั้น ดร.พรเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยังไม่พบข้อมูลยืนยันว่า ฉี่จักจั่นจะถูกนำมาใช้เป็นยาหรือใช้รักษาโรคให้แก่ผู้ป่วย โดยส่วนตัวคิดว่า เหตุผลที่ผู้ป่วยนำน้ำ หรือฉี่จักจั่นไปดื่มแล้วมีอาการดีขึ้น คาดว่า มาจากกำลังใจของผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่นอนติดเตียง สภาพจิตใจอาจจะไม่ได้แข็งแกร่งอยู่แล้ว เมื่อมีความเชื่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่นำมาใช้รักษา จึงมีกำลังใจต่อสู้ จนอาการดีขึ้นตามลำดับ

...

ขณะที่ ผศ.ดร.วัฒนชัย ตาเสน อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยกับทีมข่าวว่า จักจั่นเป็นแมลงที่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นอาหาร เมื่อดูดน้ำเข้าไปเต็มท้องแล้วก็จะปล่อยฉี่ออกมา

ส่วนประเด็นที่ว่า ฉี่จักจั่นนำมารักษาโรคได้หรือไม่ หรืออันตรายต่อผู้ที่ดื่มกินหรือไม่นั้น ผศ.ดร.วัฒนชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยที่นำฉี่จักจั่นมาพิสูจน์ว่าใช้ในทางการแพทย์ได้หรือไม่ ดังนั้น การกินฉี่จักจั่นเข้าไป แล้วรู้สึกว่าอาการดีขึ้นนั้น เป็นความเชื่อส่วนบุคคล

“ผมคิดว่า ในฉี่จักจั่นมีสารยูเรีย เหมือนกับปัสสาวะของคนที่มีสารประกอบชนิดต่างๆ (โดยปกติน้ำปัสสาวะของคนประกอบด้วยยูเรีย เกลือ และสารอื่นๆ)” ผศ.ดร.วัฒนชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ดร.พรเทพ และผศ.ดร.วัฒนชัย มีความเห็นตรงกันว่า ชาวบ้านไม่ควรนำน้ำดังกล่าวมาดื่ม เนื่องจากยังไม่มีผลพิสูจน์ว่าในน้ำมีสารใดๆ ปนเปื้อนอยู่บ้าง.