พังงาสุดปลื้ม ลูกเต่ามะเฟือง ชุดแรก ที่แม่เต่าขึ้นวางไข่หาดคึกคัก ‘17 ธ.ค.61‘ ฟักเป็นตัวแล้ว จนท.นำมาพักฟื้นก่อนลงทะเลอันดามัน 48 ตัว ส่วนในหลุมมีตาย 8 ตัว ไข่ไม่ผสม 27 ฟอง ส่งตรวจ 5 ฟอง ชุดที่สองกำลังจะตามมา
จากการที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่จำนวน 118 ฟอง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 หลังจากแม่เต่ามะเฟืองไม่ได้ขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นานกว่าสิบปี ก่อนจะพบแม่เต่าอีกตัวขึ้นมาวางไข่บริเวณ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ส่วนแม่เต่าตัวแรกกลับมาวางไข่บริเวณหาดคึกคักอีกครั้ง ในวันที่ 8 มกราคม 2562

ล่าสุด เมื่อเวลา 19.05 น. วันที่ 11 ก.พ. 62 ขณะที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ปฏิบัติงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟืองจังหวัดพังงา ของศูนย์เฝ้าระวังฯ หาดคึกคัก ได้ตรวจพบลูกเต่ามะเฟืองได้ฟักตัวและขึ้นมาบริเวณปากหลุมฟักไข่ที่ 1 และทยอยขึ้นมา เจ้าหน้าที่จึงได้นำลูกเต่าไปพักฟื้นไว้ในกะละมังที่ฆ่าเชื้อแล้ว รอบแรกจำนวน 20 ตัว ก่อนจะนำไปปล่อยลงสู่ทะเล พร้อมเฝ้ารอการขึ้นมาของลูกเต่าจนถึงเวลาสมควร จึงได้ทำการขุดช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองที่อยู่ภายในหลุม โดยสามารถช่วยมาได้จำนวน 29 ตัว มีสภาพอ่อนแอ เจ้าหน้าที่ปล่อยให้ลูกเต่าได้พักฟื้นจนแข็งแรง แล้วจึงคัดเลือกลูกเต่ามะเฟืองที่แข็งแรงอีก 20 ตัวปล่อยลงสู่ทะเลรอจนลูกเต่าที่เหลือมีความแข็งแรงจึงทำการปล่อยชุดที่ 3 ลงสู่ทะเลอีกจำนวน 8 ตัว และมีลูกเต่าที่ตาย 1 ตัว โดยเจ้าหน้าที่สามารถปล่อยลูกเต่ามะเฟืองได้ทั้งสิ้น 48 ตัว ก่อนที่นักวิชาการจะทำการตรวจสอบหลุม พบว่ามีลูกเต่ามะเฟืองที่ไม่แข็งแรงและเสียชีวิตภายในหลุม 8 ตัว เป็นไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจำนวน 27 ฟอง และเป็นไข่ที่จำแนกไม่ได้ ต้องนำกลับไปตรวจสอบที่ ศวทม. 5 ฟอง
...

นายวิโรจน์ เอียดสงครา เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 กล่าวว่า จากวันนี้ขณะกำลังเดินตรวจหลุมพบว่า หลุมเริ่มยุบตัว และก็มีลูกเต่าเริ่มออกมา 2 ตัว ก่อนจะออกมาเรื่อยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปที่รังเพื่อนำลูกเต่ามาพักฟื้นก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล ซึ่งตนเองรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก และรู้สึกหายเหนื่อย หลังจากสลับกันเฝ้าดูแลอย่างต่อเนื่องมากว่า 55 วัน พร้อมขอให้เต่าที่ฟักมาทั้งหมด 48 ตัวปล่อยคืนสู่ทะเลให้รอดปลอดภัยหมดทุกตัวด้วย

ด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศวทม. กล่าวว่า ในวันนี้มีลูกเต่าขึ้นมาจากหลุมจำนวน 49 ตัว และไม่สามารถขึ้นมาจากหลุมได้ 8 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นไข่ที่ไม่มีการผสม โดยพบอัตราการฟักอยู่ที่ 60% โดยเต่าหลุมนี้ขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ใช้ระยะเวลาฟักจำนวน 56 วัน ส่วนค่าอุณหภูมิที่วัดได้เฉลี่ยอยู่ที่ 30 องศาฯ ซึ่งจะทำให้มีเต่าเพศเมียประมาณ 80% โดยสัดส่วนในธรรมชาติเราจะพบเพศเมีย 3 ใน 4

“การฟักตัวครั้งนี้ถือเป็นสัดส่วนที่มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ ส่วนหาเหตุที่ไม่ทำการอนุบาลลูกเต่าก่อนจะทำการปล่อยลงสู่ทะเลนั้น สืบเนื่องจากผลการทดลองอนุบาลและเพาะฟักทั่วโลกยังไม่มีใครทำสำเร็จ เนื่องจากพฤติกรรมการกินอาหาร หรือพฤติกรรมการว่ายน้ำ ประกอบกับเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่มีหนังหุ้มเกล็ดจึงทำให้ง่ายต่อการเกิดบาดแผลและติดเชื้อจนเสียชีวิต ซึ่งหากเทียบกับการปล่อยลงสู่ธรรมชาติจะทำให้ลูกเต่ามีโอกาสรอดสูงกว่าการเพาะเลี้ยง ส่วนหลุมฟักที่ 2 คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 10 วัน ลูกเต่าจะเริ่มคลานออกมาจากหลุม ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะทำการปรับพื้นที่เพื่อให้ลูกเต่าที่เกิดสามารถคลานกลับลงสู่ทะเลด้วยตัวเอง”.
...