เครดิตภาพจาก นิยามีเดีย
อาจารย์นักวิจัยจาก มรภ.ภูเก็ต-ม.เกษตรฯ ร่วมกันศึกษาความหลากหลายของสัตว์น้ำขนาดเล็กในระบบนิเวศทางน้ำ จนค้นพบแพลงก์ตอนสัตว์จำพวกโรติเฟอร์ 2 สายพันธุ์ใหม่ของโลก ในป่าพรุภูเก็ต-กระบี่...
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. มีรายงานว่า ดร.ภูริพงศ์ เมฆสุวรรณ อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (เอกชีววิทยา) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (PKRU) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำขนาดเล็กในระบบนิเวศทางน้ำ (แพลงก์ตอนสัตว์) ได้ร่วมกับอาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบแพลงก์ตอนสัตว์จำพวกโรติเฟอร์ 2 สายพันธุ์ใหม่ของโลก ได้แก่ 1. Limnias novemceras (หนอนจักรเก้าเขา) และ 2. Limnias lenis (หนอนจักรอกเรียบ) โดยนักวิจัยจาก PKRU ค้นพบสัตว์ขนาดเล็กดังกล่าวที่ลำธารในพื้นที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ และพื้นที่ป่าพรุจิก ต.ไม้ขาว จ.ภูเก็ต โดยได้รับการรับรองและตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ
ดร.ภูริพงศ์ กล่าวว่า ที่มาของการค้นพบตัวแพลงก์ตอนนี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ล่องลอยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สำหรับการค้นพบในครั้งนี้เกิดจากการลงพื้นที่สำรวจและจำแนกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในระบบนิเวศทางน้ำในพื้นที่จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน สำหรับหนอนจักรอกเรียบและหนอนจักรเก้าเขา พบอาศัยอยู่บนรากของพืชน้ำ เช่น รากผักตบชวา จอกแหน ฯลฯ ทั้งนี้แพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มโรติเฟอร์ แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กมาก แต่มีความสำคัญต่อสายใยอาหารในระบบนิเวศทางน้ำ เพราะโรติเฟอร์ เป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ในน้ำ เช่น ลูกปลาชนิดต่างๆ เป็นต้น จากการค้นพบดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันถึงความหลากหลายทางด้านทรัพยากรชีวภาพ ของท้องถิ่นอันดามันที่ยังมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่รอการค้นพบ อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ที่พื้นที่ธรรมชาติ อันมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน
...
“ในฐานะของนักวิจัยของ ม.ราชภัฏภูเก็ต ที่เป็นหน่วยงานเพื่อท้องถิ่น สามารถนำข้อมูลการค้นพบดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันว่า ยังมีแหล่งธรรมชาติที่มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่ยังไม่มีใครเคยพบเห็นดำรงอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในขณะที่เมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประเด็นของการจัดสรรและบริหารจัดการพื้นที่ทางธรรมชาติร่วมกับการปกปักรักษาระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ให้คงอยู่สืบไปจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และขยายผลสู่การท่องเที่ยวชุมชน ควรจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ดร.ภูริพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขอย้ำว่า นอกจากบทบาทของการจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทาง PKRU มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านต่างๆ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัยประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ (อันดามัน) เพราะเป็นรูปแบบของการจัดการศึกษายุคใหม่ ที่ไม่ตีกรอบการศึกษาเฉพาะในห้องเรียน แต่ต้องสามารถให้การสนับสนุนท้องถิ่น เป็นที่พึ่งทางวิชาการและองค์ความรู้ที่จับต้องได้ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.