คฤหาสน์หลังงามกลางสวนไม้ใหญ่ อายุมากกว่าหนึ่งศตวรรษ ซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2446 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งทุกวันนี้บ้านพิทักษ์ชินประชายังเป็นที่อยู่อาศัยของทายาทตระกูลตัณฑวณิช ส่วนชั้นล่างเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ฉะนั้น ผู้ที่เคยมีโอกาสไปเยี่ยมชมคฤหาสน์หลังนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหมือนได้ย้อนกลับไปในอดีตอย่างใดอย่างนั้น

ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ พาไปย้อนดูประวัติของคฤหาสน์อายุ 116 ปี ที่มากด้วยเรื่องราวหลังนี้...

...

ที่มาที่ไปของคฤหาสน์หลังนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยพระพิทักษ์ชินประชา (ตัณฑวณิช) ตอนที่เขามีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านนำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากกิจการค้าขายกับปีนังเฟื่องฟูมาก กระเบื้องปูพื้นจากอิตาลีสวยงามเข้าเหลี่ยมมุมอย่างเหมาะเจาะ อีกทั้งยังระดมช่างจากทั้งจีน ปีนัง ฮอลแลนด์ ฉะนั้นแทบจะกล่าวได้ว่าทุกส่วนภายในบ้านล้วนถูกสร้างอย่างประณีตบรรจง

...

เมื่อบุตรชายของพระพิทักษ์ชินประชาแต่งงาน ท่านได้ยกบ้านหลังนี้ให้เป็นเรือนหอของบุตรชายคนโต (ขุนชินสถานพิทักษ์) แล้วถึงไปสร้างบ้านอีกหลังในบริเวณเดียวกัน (บ้านพระพิทักษ์ชินประชา) ปัจจุบัน "บ้านชินประชา" เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ของตระกูล ตัณฑวณิช และยังเป็นที่พักอาศัยของทายาทในปัจจุบันด้วย

...

ครั้งหนึ่ง ธิติ ตัณฑวณิช ทายาทรุ่น 4 ของบ้านพระพิทักษ์ชินประชา (ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว อ่านข่าว : เปิดที่มาเชือกแขวนคอ "ธิติ ตัณฑวณิช" หลักฐานวงจรปิด บอกสาเหตุการตาย) ได้กล่าวไว้ว่า "ผมต้องการให้นักท่องเที่ยวรู้จักภูเก็ต มากกว่าเพียงแค่มีหาดทรายและทะเลสวยงาม หรือแสงสีความสนุกสนานยามค่ำคืนตามชายหาดต่างๆ ภูเก็ตมีมากกว่านั้น มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี อาคารบ้านเรือนแบบชิโน-โปรตุกิส ในย่านเมืองภูเก็ตที่ผู้เป็นเจ้าของหรือทายาทได้อนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี และอาหารท้องถิ่นอีกมากมายที่นักท่องเที่ยวบางคนไม่เคยรู้"

...

“สำหรับคนที่มาเที่ยวบ้านพระพิทักษ์ชินประชา จะเห็นอะไรหลายอย่าง ได้เห็นภายในตัวบ้านจริงๆ ว่าจัดวางข้าวของกันอย่างไร ใช้ชีวิตกันอย่างไร ความละเอียดอ่อนในการตกแต่งเป็นแบบของเก่าร้อยกว่าปีก่อนทั้งหมด แม้กระทั่งรูปก็เป็นของจริง ไม่ใช่เพียงเที่ยวชมความสวยภายนอก แต่ไม่ได้เห็นข้างในเหมือนอาคารอื่น” ธิติ ตัณฑวณิช ผู้ลาลับไม่มีวันกลับ เคยกล่าวไว้ด้วยหัวใจอันแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวของภูเก็ต.


ขอบคุณภาพประกอบจาก : บ้านพระพิทักษ์ชินประชา ภูเก็ต